"โคทม" ชี้ ปชป.ไม่ควรบอยคอตเลือกตั้งเพื่อให้ยังมีทางออก ด้าน "โสภณ" ประกาศจุดยืนอ้าง ภท.เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง แต่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งบนความขัดแย้ง...

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 15 ธ.ค. มีรายงานความคืบหน้าการจัดเสวนาเวทีปฏิรูปประเทศโดยรัฐบาลชื่อ "ประเทศไทยของเราจะไปทางไหน" ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดย นายโสภณ ซารัมย์ ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า จุดยืนของพรรคเห็นด้วยให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งบนความขัดแย้ง พร้อมเสนอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างกติกาให้เป็นที่ยอมรับในการเลือกตั้ง

นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการปฏิรูปการเมืองควรจะมีการรักษากฎหมายก่อนและเห็นว่าการปฏิรูป ก่อนการเลือกตั้งนั้นจะทำไม่ได้ การที่นำมวลชนออกมาชุมนุมถือเป็นแค่เสียงส่วนหนึ่ง ซึ่งเทียบไม่ได้กับเสียงของคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ เห็นว่าหากจะทำการปฏิรูปจะต้องใช้เวลาและทุกคนทุกฝ่ายต้องเคารพกติกาประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการปฏิรูปการเมืองโดยปฏิเสธพรรคการเมือง นักการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ด้าน นายณพงศ์ นพเกตุ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องมีการเลือกตั้งซึ่งไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้เลย เพราะหากเลื่อนไม่เลือกตั้งครั้งนี้ ครั้งต่อ ๆ ไปจะหาเหตุผลไม่ให้มีการเลือกตั้งอีก ซึ่งจุดร่วมของประเทศไทยต้องการการปฏิรูปเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรมและได้มาซึ่งรัฐบาลที่ทุกคนไว้วางใจ รวมถึงให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ จุดยืนของทหารและตำรวจต้องไม่มีการปฏิวัติและใช้ความรุนแรง โดยทั้งหมดที่เสนอมาต้องจัดทำแผนแม่บทในการปฏิรูป

นายสมหวัง จำปาหอม ประธานโครงข่ายสภาที่ปรึกษา เศรษฐกิจ จ.ยโสธร กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นความขัดแย้งที่ดำรงต่อไปไม่จบสิ้น เห็นว่าทุกฝ่ายควรจะเอาข้อเท็จจริงทุกอย่างมาเปิดใจพูดคุยกันเพื่อหาทางออก ทั้งนี้ เสนอว่าถ้าจะมีการเลือกตั้งขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิรูปตัวเองก่อน

...

พร้อมกันนี้ เห็นว่าความขัดแย้งที่มีอยู่คือการแย่งอำนาจกันของพรรคการเมือง 2 พรรคคือ พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสียสละตัวเองไม่ลงสมัครรับการเลือกตั้ง

ส่วน นายโคทม อารียา นักวิชาการสันติวิธี กล่าวว่า ขอบคุณ กปปส.และ นปช.ที่ทำให้คนไทยตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น พร้อมเห็นว่าก่อนจะปฏิรูปการเมืองต้องลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ได้ก่อน ขณะเดียวกันเห็นว่าการปฏิรูปบางเรื่องสามารถทำได้ในระยะสั้นและบางเรื่องก็ทำได้ในระยะยาว และทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะภาคประชาชน และการปฏิรูปไม่ควรเร่งรีบแต่ไม่ควรเป็นลักษณะการซื้อเวลา พรรคการเมือง องค์กรทางการเมืองต้องร่วมกันปฏิรูปเพื่อลดการทุจริต รวมถึงเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องเข้าร่วมในการเลือกตั้งไม่ควรบอยคอตมีอะไรก็บอกสังคมและเรียกร้องให้มาร่วมกันคิดและร่วมหาทางออก เพื่อให้มีทางเดินต่อไปได้.