"วีรพัฒน์ ปริยวงศ์" ระบุกลางเวทีเสวนาปฏิรูปประเทศอ้างการเลื่อนเลือกตั้งทำไม่ได้ เพราะไร้กฎหมายรองรับและ รธน.กำหนดไว้ ด้าน เลขาฯ สมช. เชื่อสถานการณ์รุนแรงจากการชุมนุมจะลดลง... ...
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. มีรายงานความคืบหน้าการจัดเวทีเสวนาปฏิรูปประเทศโดยรัฐบาล ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ โดย นายวีระพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวตอนหนึ่งว่า ข้อเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และในรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้รัฐบาลยุบสภาฯ แล้วต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองเลื่อนการเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ของตนเอง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้สามารถทำให้โปร่งใสได้โดยไม่ต้องรอให้มีสภาประชาชนขึ้นมาตามที่ กปปส. อ้าง โดยใช้มาตรา 25 ของกฎหมายประกอบการเลือกตั้ง ที่เปิดโอกาสให้บุคคลและภาคเอกชนส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง หากพบการกระทำความผิด ระเบียบของ กกต.สามารถลงโทษได้ถึงขั้นยุบพรรค
สำหรับแนวทางปฏิรูปที่ง่ายที่สุดคือจัดการเลือกตั้งและให้รัฐบาลใหม่อยู่บริหารงาน เพียง 2 ปี และยุบสภาฯ ในระหว่างนั้นรัฐบาลต้องวางกลไกการปฏิรูปประเทศ เพื่อผูกมัดระหว่างทุกชุดในการหาทางออกประเทศ ซึ่งแนวทางสภาประชาชนจะมาในรูปแบบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ อาจตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจที่ให้มีทุกภาคส่วน หรืออาจเชิญฝ่ายค้านและคู่ขัดแย้งเข้าร่วมรัฐบาลหรือสภาฯ ด้วย
ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เปิดเผยก่อนเข้าร่วมการประชุมเสวนาว่า เชื่อว่าข่าวสารและความคิดเห็นที่จะสะท้อนออกมาในวันนี้ จะเป็นประโยชน์และส่งต่อถึงกปปส. เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาต่อไป มองว่าสถานการณ์ความรุนแรงที่ทุกฝ่ายกังวลในช่วงที่ผ่านมาจะลดลง เพราะได้เปลี่ยนจากเวทีที่เผชิญหน้ากันเป็นเวทีแสดงความคิดเห็นแล้ว ซึ่งทำให้บรรยากาศความรุนแรงจะลดลง ประกอบกับมีความชัดเจนในพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภา โดยให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ดังนั้น เชื่อว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจตามกฎหมายที่จะมุ่งเน้นสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ และจากนี้ในส่วนของฝ่ายความมั่นคงนั้น จะรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับ กกต. เมื่อได้รับการร้องขอ
...
ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าว มีการถ่ายทอดสดผ่านทีวีช่องเอ็นบีที และสถานีวิทยุ กระจายเสียงแห่ประเทศไทย รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านข้อความสั้นทางหมายเลข 4221559 ครั้งละ 30 บาท หรือทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2276-4646.