จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เรียกร้องวุฒิสภาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญยับยั้ง ส่งร่างคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ ร่วมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด...

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. คณะผู้บริหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่อง ข้อขัดแย้งร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ระบุว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ......  อย่างที่เร่งรีบ รวบรัด และมีเนื้อหาแตกต่างไปจาก ร่างที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการเอาไว้ในวาระที่ 1 ส่งผลให้มีผู้ได้รับประโยชน์ จากร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ขยายไปครอบคลุมถึงผู้สั่งการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตาย ทั้งยังมีการขยายระยะเวลาของการนิรโทษกรรมออกไป จนทำให้นักการเมือง ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชันจะได้รับประโยชน์ จากร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย การพิจารณาร่างกฎหมายด้วยวิธีการดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งในสังคมที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ คณะผู้บริหารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเห็นว่า การจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ไม่เป็นไปตามแนวทางของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.  ซึ่ง คอป. ได้ให้แนวทาง เรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า "...ไม่สามารถดำเนินการ โดยปราศจากขอบเขต ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม และมาตรฐานสากล โดยจะต้องไม่ใช่การนิรโทษตนเอง และไม่เป็นการนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมเป็นการทั่วไป หรือครอบคลุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยปราศจากเงื่อนไข แต่ต้องมีการจำกัดความผิด ที่จะนิรโทษกรรม และเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมอย่างชัดเจนและเฉพาะเจาะจง โดยพิจารณาแยกแยะลักษณะการกระทำของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และตั้งอยู่บนหลักประชาธิปไตย โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย"

อย่างไรก็ตามเมื่อสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เสร็จเรียบร้อยแล้ว และไม่สามารถย้อนกลับสู่จุดเริ่มต้นได้ในปัจจุบัน คณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอเรียกร้องให้วุฒิสภา ซึ่งต้องเป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญยับยั้ง กฎหมายนิรโทษกรรมไว้ก่อน และส่งร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคืนไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ ทั้งนี้คณะผู้บริการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด

...