ลุ้นบ่ายวันนี้ (28 ต.ค.) อสส.เตรียมแถลงข่าวการสั่งคดี “มาร์ค-สุเทพ”  ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล  เหตุสลายม็อบนปช.ปี53

เมื่อวันที่27ตุลาคม สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งแถลงข่าวการสั่งคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจาก เหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองปี2553ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตรองนายก ฯ และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) เป็นผู้ต้องหาที่1-2 โดยมีพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา59,80, 83, 84และ288จากกรณีที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่ จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) ระหว่างเดือน เม.ย.–พ.ค.53บริเวณ ถ.ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ ส่งผลมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย โดยนายอรรถพล จะเปิดแถลงข่าวผลการพิจารณาสั่งคดี ในวันที่28ตุลาคมนี้ เวลา13.30น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุดศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับคดีนี้คณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้สรุปสำนวนการสอบสวนเอกสารหลักฐานทั้งสิ้น9ลัง61แฟ้ม11,242แผ่น พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาโดยเล็งเห็นผล จากกรณีการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง อายุ43ปี และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี และข้อหาก่อให้ผู้อื่นพยายามฆ่า ฯ กรณีที่นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ โดยดีเอสไอสรุปสำนวนส่งให้อัยการเมื่อวันที่26มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ต้องหาทั้งสองได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการด้วยทั้ง ประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวน เพราะคดีนี้เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการสอบสวนจะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

...

โดยคดีนี้ทางอัยการได้เลื่อนสั่งคดีมาแล้ว 2 ครั้งกระทั่งล่าสุดทางสำนักงาน อัยการคดีพิเศษ ได้ส่งสำนวนให้นายอรรถพล อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณา เนื่องจากเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมโดย นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า คดีนี้จะต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดเท่านั้น ตาม ป.วิอาญา มาตรา 143 วรรคท้าย ที่ระบุว่า ในคดีฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ โดยอัยการสูงสุดเท่านั้นที่มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเพราะเป็นคดีวิสามัญ ฆาตกรรมโดยทางอัยการคดีพิเศษไม่มีอำนาจพิจารณาคดีได้ และหากอัยการสูงสุดมีคำสั่งเป็นอย่างไรก็ถือว่าคดีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว และต้องเอาตัวผู้ต้องหาไปฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลใยวันยื่นฟ้อง