สภาฯตั้งกระทู้สดแนวทางแก้น้พำท่วม 3 เรื่องรวด 'วราเทพ' แจงภาคอีสานทำ 3 โครงการจากเงินกู้ 3.5 แสนล้าน ขณะที่ ปราจีนบุรี ต้องทำฟลัดเวย์ ด้าน กบอ.แบะท่ารับข้อเสนอจังหวัด ส่วน 'พฤณ' ฟุ้งโครงการจัดการน้ำยั่งยืนคืบหน้าไปแล้ว 62%...
เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2556 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดการแก้ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยนายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลจะมีมาตรการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่อีสานใต้อย่าง จ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ รวมถึงถนนสายหลัก สายรอง ถนนทางหลวงที่ได้รับความเสียหายย่างไร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคอีสาน เช่น โครงการชลประทานขนาดกลาง ฝายทดน้ำลำน้ำมูล โครงการโขง-ชี-มูล โครงการประตูระบายน้ำ โครงการเพิ่มช่องระบายน้ำตามทางหลวงชนบท ทางหลวงแผ่นดิน โครงการแก้มลิงขนาดใหญ่ จะเกิดขึ้นในจังหวัดที่เกิดน้ำท่วมหรือไม่ หรือมีนโยบายผันน้ำอย่างเป็นระบบหรือไม่
จากนั้น นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามสดสถานการณ์พื้นที่ประสบอุทกภัยว่า รายงานสถานการณ์น้ำท่วมโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์ ล่าสุดระบุพื้นที่น้ำท่วม 25 จังหวัด 220 อำเภอ 348 ตำบล 10,899 หมู่บ้าน 796,395 ครัวเรือน มีประชาชนเดือดร้อน 2,745,342 คน สั่งอพยพพี่น้องประชาชนแล้ว 4,416 ครัวเรือน 15,254 คน มีผู้เสียชีวิตถึง 27 ราย พร้อมกันนี้ได้แสดงป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ระบุว่า “ลาก่อนน้ำท่วม น้ำแล้ง” โดยระบุว่าไม่สามารถทำได้จริง ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยออก พ.ร.ก.แก้ปัญหาน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท ได้ผลสำเร็จจริงหรือไม่ หรือละลายไปกับน้ำแล้ว เพราะมีการเบิกจ่าย 100% ไปแล้ว 146 โครงการจากทั้งหมด 154 โครงการ อีก 8 โครงการเบิกจ่ายแล้วกว่า 80% แต่มีอะไรบ้าง
ขณะที่ นางเพชรินทร์ เสียงเจริญ ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย ตั้งกระทู้ถามสดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดปราจีนบุรีว่า ประชาชนผู้ประสบภัยกำลังรอรับการแก้ไขเยียวยาอยู่ ขณะนี้ แม้ระดับน้ำที่ท่วมพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ์ จะเริ่มลดลง แต่การเร่งระบายเพื่อลดระดับน้ำ การเปิดประตูน้ำ รัฐบาลอ้างว่าต้องดูแลพื้นที่ทางเศรษฐกิจก่อน อย่างไรก็ตามหลังน้ำลดแล้ว ประชาชนกังวลว่ารัฐบาลจะมีแผนการช่วยเหลือเร่งด่วนอย่างไร ทั้งเงินชดเชยบ้านเรือนเสียหาย พืชผลเกษตรเสียหาย สัตว์เลี้ยงล้มตาย จะมีการพักชำระหนี้เกษตรกรหรือไม่ เท่าที่ตรวจสอบแผนงานตามโครงการ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้าง อนาคตของประเทศ 3.5 แสนล้านบาท (พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท) น่าเสียใจไม่มีโครงการอยู่ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรีเลยซักโครงการ ทั้งที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมากว่า 200 โรง เกรงว่านักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่น ย้ายโรงงานหนีแน่นอน
ด้าน นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า งบ 1.2 แสนล้านบาท ไม่ได้ละลายไปกับน้ำ แต่เป็นงบฯฟื้นฟู ซ่อมแซม และเยียวยาเหตุอุทกภัยเมื่อปี 2554 แต่ไม่สามารถป้องกันเหตุน้ำท่วมได้ รัฐบาลจึงต้องผลักดันพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท นำมาบริหารจัดการป้องกันน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ นายกฯให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชนโดยเร่งด่วน การแก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานใต้จะแตกต่างจากพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง เนื่องจากไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีเพียงบางส่วนอย่าง จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำชี ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้พิจารณาทำ 3 โครงการ เช่น อ่างโปร่งขุนเพชร หรือการพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน เขื่อนยางนาดี ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำในฤดูน้ำฝนมากเพื่อไม่ให้น้ำลงมาในลุ่มน้ำชีและไปรวม กับน้ำมูล ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำหรือที่เรียกว่าป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งน้ำจะเอ่อล้นอยู่เป็นประจำ การปรับสภาพก็คงต้องเตรียมตัวที่จะอยู่กับน้ำได้
รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ขณะนี้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กบอ. เตรียมรับข้อเสนอจังหวัดที่ประสพปัญหา มาพิจารณาบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวต่อไป ส่วนโครงการใหญ่ๆที่อยู่ในโครงการหลัก 9 แผนงาน หรือ 9 โมดูล แต่ยังไม่มีโครงการทำที่ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และจังหวัดที่ประสบน้ำท่วม แต่ กบอ.จะพิจารณาหางบดำเนินการต่อไป รัฐบาลมีแนวนโยบายดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยยึดหลักลงทุนครั้งเดียวแม้จะใช้งบในส่วนแรกมาก แต่ไม่ต้องจ่ายทุกปีและป้องกันในระยะยาวได้ ส่วนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ การชลประทานขนาดเล็ก ประตูระบายน้ำ จะมีงบประจำปีของส่วนราชการอยู่แล้ว
นายวราเทพ กล่าวอีกว่า ส่วนการจ่ายเงินชดเชย กระทรวงการคลังมีหลักเกณฑ์ปฏิบัติอยู่แล้ว ส่วนการพักหนี้เกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) มีแนวปฏิบัติที่วางไว้อยู่แล้ว หากเป็นภาระทางการเงินมากก็อาจเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งพื้นที่เสียหายรุนแรงการพักชำระหนี้คงไม่มีปัญหา ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก จากตามโครงการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท อยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง แต่ กบอ.มีโครงการทำฟลัดเวย์ หรือทำพื้นที่แก้มลิง โดยจ่ายชดเชยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทั้ง 5 แผนงานหลัก ตามเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท แม้จะไม่มีโครงการอยู่ใน จ.ปราจีนบุรี แต่หากมีงบเผื่อเหลือเผื่อขาด ก็จะพิจารณาจัดสรรโครงการให้
ด้าน พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม ชี้แจงว่า ถนนทางหลวงหมายเลข 24 และ 2111 ที่เสียหายจากอุทกภัย ได้สั่งการให้กรมทางหลวงสำรวจความเสียหาย เพื่อสรุปของบประมาณซ่อมให้คืนสภาพโดยเร็ว ส่วนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน กระทรวงคมนามคมจะเน้นในพื้นที่เศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งได้สร้างคันกั้นน้ำ มีการยกระดับถนน จัดสร้างแบริเออร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันอุทกภัยและระบายน้ำ ส่วนท่อระบายน้ำที่ระบายไม่ทันก็แก้ปัญหา โดยเปลี่ยนเป็นการสร้างสะพานแทน ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 91 โครงการ ใช้งบประมาณ 9,040 ล้านบาท ซึ่งการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ดำเนินการเสร็จประมาณ 62% และคิดว่าอีกไม่นานจะดำเนินการได้ 100% เต็ม
ส่วน นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาครัวเรือนละ 33,300 บาท สำหรับบ้านที่เสียหายทั้งหลัง แต่หากเสียหายบางส่วนจะจ่ายค่าเสียหายตามความเป็นจริง ชดเชยพื้นที่การเกษตร 1,113 ต่อไร่ ไม่เกิน 30 ไร่ กรณีผู้เสียชีวิตจะจ่ายสงเคราะห์รายละ 2.5 หมื่นบาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะจ่ายเพิ่มอีก 2.5 หมื่นบาท.
...