"นายอุเทน ชาติภิญโญ" แนะแก้ท่วมปราจีนฯ ผันน้ำผ่าน 2 คลองหลัก กทม.ลงทะเล ซัดรัฐบาลแก้ปัญหาแบบ "ตาบอดคลำช้าง" หนุนสร้างเขื่อน แต่ไม่ใช่แม่วงก์...
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 56 ที่รัฐสภา นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการบริหารจัดการน้ำ และอดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล กล่าวว่า ขอเสนอแนวทางต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ จ.ปราจีนบุรี ด้วยการระบายน้ำผ่านบางปะกงเข้ามา กทม. ผ่าน 2 คลองคือ คลองแสนแสบและคลองประเวศบุรีรมย์ โดยเปิดประตูระบายน้ำที่ตั้งอยู่กลางคลองทั้ง 2 คือ ประตูระบายน้ำหนองจอกและประตูประเวศ 100%
ทั้งนี้ ที่จริงเคยเสนอให้ทุบทิ้งทั้ง 2 ประตูเมื่อคราวน้ำท่วมปี 54 แต่ไม่มีใครกล้าสั่ง ประตูทั้ง 2 นี้กลายเป็นบานกั้นน้ำ ทำให้น้ำไหลลงอุโมงค์สูบน้ำพระราม 9 ได้ช้ามาก และประตูทั้ง 2 นี้ ในอดีตมีไว้กั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้า กทม. ดังนั้น ในเมื่อ กทม.ใช้งบสร้างอุโมงค์ยักษ์แล้ว ทำไมไม่กล้าใช้คลองแสนแสบ-ประเวศบุรีรมย์ ช่วยระบายน้ำด้วย ในเมื่อการระบายน้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรี ไปบางปะกง เพื่อลงสู่อ่าวไทย สภาพกายภาพของเส้นทางน้ำตลอดแนวไม่ดี เล็กและคดเคี้ยวมาก อีกทางหนึ่งคือใช้ประตูระบายน้ำบริเวณริมถนนสุขุมวิทสายเก่า ตั้งแต่บางตำหรุ บางปลา เจริญราษฎร์ ฯลฯ สามารถช่วยสูบน้ำระบายออกอ่าวไทยได้อีกทางหนึ่ง
นายอุเทน กล่าวว่า แต่สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาน้ำท่วม กทม. คือการนำน้ำออกจากแผ่นดินโดยเร็วที่สุด และจุดที่จะเอาน้ำออกไปได้สั้นและง่าย เสียค่าใช้จ่ายลงทุนน้อยคือ ต้องเอาออกแถวสุขุมวิทสายเก่า ตั้งแต่สุดแนวกั้นน้ำพระราชดำริ ตั้งแต่บางตำหรุไปตามแนวถนนจนถึงบางปะกง ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำ บำรุงรักษาน้ำชลหารพิจิตร ตนเคยเสนอให้ใช้จุดต่างตรงนี้ 13 จุด ระบายน้ำลงทะเลเลย เพราะง่าย ถูก และเร็ว แต่เสียดายไม่มีใครฟัง มัวแต่จะใช้เงินแบบตำน้ำพริกละลายน้ำ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่คนประเภทค้าน หรือเห็นต่างกับรัฐบาลไปทุกเรื่อง เพราะเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมของรัฐบาล ที่ต้องเร่งรีบทำเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างถาวร แต่ไม่ใช่การแก้แบบที่รัฐบาลทำอยู่นี้ เพราะทำแบบคนไม่รู้ หรือตาบอดคลำช้าง ใช้งบฯ ที่มากมายเกินความจำเป็น
...
“แล้วประชาชนได้อะไร ถ้าไม่ใช่แค่เสียงบเสียเงินโดยไม่ได้ประโยชน์ หากรัฐบาลกล้าถอย กล้าแก้ TOR กล้าเปลี่ยนวิธี และรับฟังทุกฝ่ายมากกว่านี้ เชื่อว่าความนิยมจะกลับคืนมา ขอจงกล้ารับผิดชอบในแต่ละโครงการ ในแต่ละนโยบาย เช่น A1. เรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำ พูดตรงๆ คือสร้างเขื่อน ผมขอยืนยันว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องสร้างเขื่อน และต้องเป็นเขื่อนที่พร้อมผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ต้องพิจารณาดีๆ ว่า ต้องสร้างที่ใด ซึ่งจะเกิดปัญหาผลกระทบน้อยที่สุดกับสาธารณสมบัติและสังคม ไม่เห็นด้วยที่จะสร้างที่แม่วงก์ ควรย้ายจุด เปลี่ยนวิธีเก็บกัก ชะลอน้ำ” นายอุเทน กล่าว.