ปชป.ตั้งกระทู้แฉรัฐบาลอยู่เบื้องหลังปลุกม็อบสวนยางปิดถนน หวังสกัดคนไม่ให้มาร่วมม็อบต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขณะที่ “ประชา” โต้วุ่น พรรคเพื่อไทยไม่ได้อยู่เบื้องหลังปลุกม็อบ “ยุคล” ยืนกรานไม่แทรกแซงราคายางพารา หวั่นกระทบกลไกลตลาดโลก...
วันที่ 5 ก.ย. 56 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดปัญหาการชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์ม น้ำมันของนายอภิชาต การิกาญจน์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถามว่า มีชาวบ้านให้ปากคำ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบและให้ข้อมูลว่าม็อบที่ปิดถนนเป็นม็อบของรัฐบาล อยากทราบว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเช่นใด หากพรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้ระดมคนมาปิดถนน เพื่อสกัดไม่ให้คนมาร่วมชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันที่ 5-7 ส.ค. คนที่อยู่เบื้องหลังคือ คณะที่ปรึกษาของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรัฐบาลจะเยียวยาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชุมนุมอย่างไร
โดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ถ้าหากย้อนดูข่าวจากทางโทรทัศน์และหน้งสือพิมพ์ จะเห็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บางคน ไปขึ้นเวที ส่วนสิ่งที่ นพ.นิรันดร์ พูดมานั้นตนไม่ทราบ แต่ปฏิเสธว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้อยู่เบื้องหลังแน่นอน
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า การสลายการชุมนุมวันที่ 23 ส.ค. เจ้าหน้าที่ไม่ประสงค์ให้เกิดขึ้น ซึ่งตำรวจก็บาดเจ็บ 50 กว่าคน ขณะที่ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ 3 คน แต่การปิดถนนถือว่าผิดกฎหมาย จึงต้องดำเนินการเปิดเส้นทางจราจร ส่วนการเยียวยาคนเสียชีวิตนั้น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้เงินชดเชยศพละ 1 แสนบาท โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 2 คน เกิดจากการทะเลาะ ยิงกันเอง ซึ่งตำรวจได้ออกหมายจับแล้ว
...
หลังจากนั้น นายอภิชาต ถามต่อว่า รมว.เกษตรฯ จะทำอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรได้ตรงตามกับสิ่งที่เรียกร้อง ทำให้ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า การให้รัฐบาลตั้งราคานำตลาดจะเกิดผลกระทบต่อกลไกราคายาง เราไม่ใช่ผู้กำหนดราคายาง ทิศทางราคายางขึ้นอยู่กับตลาดโลก ขณะนี้มียางล้นตลาดโลกอยู่ 5 แสนตัน จึงต้องแก้ปัญหาโดยการลดต้นทุนการผลิต จ่ายเป็นการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรตามมติ ครม. แต่จะไม่แทรกแซงให้เกิดการกระทบต่อกลไกตลาด.