สมช.ยัน ไม่ล้มโต๊ะ เจรจาสันติภาพ ถาม “มาเลย์” คลิปจริง-ปลอม ด้าน "อัยการ" ไอเดียสุดบรรเจิด เล็งซื้อดาวเทียม-เครื่องบินล่องหนตามจับโจร เผย สหรัฐฯ เคยใช้ได้ผล ยอมรับ แพงแต่คุ้ม
วันที่ 9 ส.ค.ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.สุรชาติ จิตต์แจ้ง หัวหน้าประชาสัมพันธ์ส่วนประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ สำนักรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และประธานอนุกรรมการ ด้านการประชาสัมพันธ์ พร้อมผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว ความคืบหน้า การแก้ไข ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดย พ.อ.จรูญ อำภา ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงคลิป ที่อ้างข้อเสนอบีอาร์เอ็น ให้ยุติการพูดคุยว่า อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ทราบ อาจเป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ถือว่า การเสนอผ่านยูทูบ ไม่เป็นทางการ เพราะต้องเสนอผ่านผู้อำนวยความสะดวก คือ มาเลเซีย ซึ่งเราได้สอบถามไป และกำลังรอคำตอบอยู่ หากเป็นมติของกลุ่มบีอาร์เอ็นจริง นายฮัสซัน ตอยิบ รองเลขาธิการ บีอาร์เอ็น จะต้องประสานผ่านทางมาเลเซีย ถึงการขอเลื่อนพูดคุย ในวันที่ 18 ส.ค.2556 นี้
โดยฝ่ายไทย จะพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นครั้งต่อไปว่า จะประมวลเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง เดือนรอมฎอน และข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นว่า ได้ดำเนินการอย่างไรไปบ้าง ที่สำคัญ คือ ต้องคำนึงถึงเสียงของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อถามว่า นายฮัสซัน ให้ฝ่ายไทยตรวจสอบ การละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ช่วงเดือนรอมฎอน ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย พ.อ.จรูญ กล่าวว่า เราได้แจ้งถึงหลักการปฏิบัติงาน ที่เน้นเชิงรุกและเชิงรับ โดยเฉพาะช่วงเดือน รอมฎอน แต่หากมีเหตุการณ์ขึ้น ก็จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการ
ส่วนที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง มองว่า เป็นการต่อรองเพื่อให้เรารับ ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนั้น ถือเป็นข้อสังเกต ซึ่งทางบีอาร์เอ็น เขารอว่า เราจะตอบรับข้อเสนออย่างไร เพราะบางข้อเราปฏิบัติไปแล้ว ส่วนข้อเสนออื่นๆ ต้องรอการหารือในสัปดาห์หน้า
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายแก้ไขปัญหาความ ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( กปต.จชต.) โดยจะนำประเด็นนี้ไปหารือ เพื่อหาข้อยุติว่า จะดำเนินการอย่างไร
ด้านนายวิชญ์ จีระแพทย์ อธิบดีสำนักงานวิชาการอัยการสูงสุด กล่าวว่า ได้พูดคุย กับ สภาความมั่นคงแห่งขาติ (สมช.) ถึงการหาเครื่องมือเก็บหลักฐาน และพยานเพื่อช่วยด้านคดีในการเอาผิดกับผู้ก่อความรุนแรงในพื้นที่ โดยจะเสนอ กปต.จชต.ให้จัดซื้อดาวเทียม เพื่อติดตามสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ โดยจะส่งเครื่องบินล่องหน (drone ) ลงไปบันทึกภาพเป็นหลักฐานแบบเรียลไทม์ เหมือนหน่วยราชการลับในสหรัฐอเมริกา เคยใช้ได้ผลมาแล้ว แม้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่แล้วคุ้มค่า จึงจำเป็นเร่งด่วน ที่หน่วยงานความมั่นคงต้องมีเครื่องมือนี้.
...