พท.มีมติถกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับนายวรชัยเพียงฉบับเดียว  จ่อยื่นยุบ ปชป.ฐานปฏิปักษ์ต่อการปกครอง...

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงผลการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมพรรคมีมติให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยในวันที่ 7-8 สิงหาคม เพียงฉบับเดียวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้สมาชิกที่เคยเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภาฯ เสนอร่างประกบโดยเด็ดขาด เพื่อประโยชน์ในการนิรโทษกรรมให้ประชาชนทุกสี ทุกฝ่าย ไม่รวมแกนนำ ผู้สั่งการ และพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ ส.ส.ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าการผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อนำไปสู่ความปรองดองและเริ่มต้นลดทอนปัญหาให้กับประชาชนที่เป็นเหยื่อทางการเมืองให้เกิดรูปธรรม ภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลมา 2 ปี

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ประธานวิปรัฐบาลประสานนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ทำการถอนร่างนิรโทษกรรมฉบับของนายนิยมออกจากสภาฯ เพื่อป้องกันความสับสน เนื่องจากร่างของนายนิยมและของนายวรชัยมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อแถลงข่าวตลอดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันว่าวันที่ 1 สิงหาคมจะพิจารณาเพียงวาระกระทู้ถามเท่านั้น ไม่ลักไก่นำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าพิจารณาแน่  และจะเป็นการพิจารณาตามวาระปกติ ไม่ใช่สามวาระรวดตามที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา  อย่างไรก็ตามในเวลา 17.30 น. แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจะแถลงข่าวสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร่วมกันอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุรัฐบาลลิดลอนสิทธิประชาชนกรณีประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคง  โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุเป็นการพิจารณาของฝ่ายความมั่นคงและพรรคเพื่อไทยที่มีข้อมูลตรงกันว่า ฝ่ายค้านและฝ่ายตรงข้ามได้ปลุกระดมมวลชนและระดมคนให้เข้าร่วมชุมนุม  เห็นได้จากการประกาศของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศคัดค้านทั้งในและนอกสภาฯ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องป้องกันให้สถานการณ์อยู่ในความเรียบร้อย  ยืนยันการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยประกาศใช้ตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเคยประกาศใช้ถึง 7 ครั้ง ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธ์ ประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เกือบ 18 ครั้ง

นายพร้อมพงศ์ ระบุด้วยว่าจะส่งตัวแทนยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีปราศรัยปลุดระมให้คนมาร่วมชุมนุม เท่ากับขัดขวางการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย.

...