วงเสวนาเมกะน้ำรุมจวกรัฐไม่จำเป็นกู้เงิน “ส.ว.ไพบูลย์” ตอกประมูลมั่วซั่ว ในขณะที่ “ปราโมทย์” อัดรัฐไม่รู้เรื่องการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ แนะตั้งสติหยุดเดินหน้า ขู่ฝืนเจอหลายด่าน...
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องเอ็ม 301 ตึกมหามกุฎ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มกรีน ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต จัดงานเสวนา เรื่อง "กู้ 3.5 แสนล้าน จัดการหรือจัดโกง...น้ำ" โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนป้องกันการทุจริต ประพฤติมิชอบในทรัพย์สินของรัฐ วุฒิสภา, นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล ศปภ., นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร, นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ และนายคมสัน มาลีสี รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำไม่จำเป็นต้องกู้เงิน เพราะในงบประมาณปี 2557 กรมชลประทานก็ของบประมาณดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถทำในงบประมาณประจำปีได้ โดยมี บริษัท เค-วอเตอร์ จากเกาหลี เป็นผู้ชนะประมูลงานก่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบ เค-วอเตอร์ เคยทำงานในเกาหลีแบบที่จะทำให้ไทย เช่น การขุดคลอง แต่ประสบปัญหา ทำให้เห็นว่างานลักษณะนี้หน่วยงานในไทย เช่น ทหาร หรือกรมชลประทานก็ดำเนินการได้
สำหรับโมดูล A6 และ B4 ที่ทำเรื่องคลังข้อมูล มูลค่า 4,000 ล้านบาท โดยส่วนตัวมองว่ารัฐบาลต้องการตั้งกระทรวงน้ำ เพื่อสนองคนที่อยากจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้เท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาให้กับประเทศ จึงอยากเตือน เค-วอเตอร์ ให้ถอนฟ้องกลุ่มเอ็นจีโอ เกาหลี ที่ออกมาเปิดเผยเบื้องหลังของเค-วอเตอร์
นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล ศปภ. กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลในการแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม เพราะกรมชลประทาน หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ก่อตั้งมากว่า 100 ปี และได้รับงบประมาณเฉลี่ยต่อปีสูงกว่า 1,200 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นว่ากรมชลประทานดำเนินการใดๆ อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่รัฐบาลประกาศแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แต่ตนมองว่าเป็นการทุจริตอย่างยั่งยืนเท่านั้น
ส่วนกรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้จัดประชาพิจารณ์ และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนเซ็นสัญญาดำเนินการใดๆ ในโครงการ ถือว่าเป็นคำสั่งที่เหมือนการแทงกั๊กเอาไว้ แม้ตนจะเห็นด้วยกับโครงการบริหารจัดการน้ำ แต่ไม่เห็นด้วยกับทีโออาร์ และที่ผ่านมาเคยยื่นเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ ป.ป.ช.ติดต่อตนไปให้ข้อมูลแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยแจ้งว่าให้รอพบกับ นายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช. นานแล้ว ซึ่งตนจะทำหนังสือยื่นเสนอต่อ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อตรวจสอบการทำงานของกรรมการ ป.ป.ช. โดยขอให้กรรมการ ป.ป.ช.แสดงทรัพย์สิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 15 ที่บัญญัติว่า ให้กรรมการมีหน้าที่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมถึงทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลไม่ว่าทาง ตรงหรือทางอ้อมต่อประธานวุฒิสภา เมื่อเข้ารับตำแหน่งและพ้นตำแหน่ง
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนป้องกันการทุจริต ประพฤติมิชอบในทรัพย์สินของรัฐ วุฒิสภา กล่าวว่า รัฐบาลพยายามอ้างความจำเป็นเร่งด่วนในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อขอกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท และเป็นที่มาของการประมูลมั่วซั่ว มีการออกแบบการประมูลเอื้อประโยชน์พวกพ้อง
โดยมองว่าการประมูลในครั้งนี้มีความไม่ชอบมาพากล 3 ประเด็น ประเด็นแรก รัฐบาลไม่เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเลี่ยงให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ และบอกว่าบางโมดูลไม่จำเป็นต้องเปิดประชาพิจารณ์
ประเด็นที่ 2 กระบวนการประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะทำอย่างเร่งรีบ พยายามหลีกเลี่ยงกำหนดเงื่อนไขการประมูลซับซ้อนจนเอกชนไม่กล้าเข้าร่วมประมูล เหลือเพียงพวกพ้องเท่านั้นที่เข้าประมูล นอกจากนี้ยังไม่การกำหนดราคากลาง ทำให้เข้าข่ายผิดกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งในวันที่ 11 ก.ค.นี้ ตนและกลุ่มส.ว.จะหารือร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ใช้อำนาจฟ้องศาลปกครอง
สำหรับประเด็นสุดท้าย คือ ความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ในการลงทุน ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ตามมาในอนาคต
นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) ปัจฉิมกถาเรื่อง "การจัดการน้ำที่ยั่งยืน"ว่า ที่ผ่านมา กยน. มีเวลาทำงานเพียงแค่ 2 เดือนในการวางแนวทางการทำงาน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้นำไปใช้ จากนั้นบทบาทของ กยน. ก็หายไปนานกว่า 1 ปี จนกระทั่งเกิด กบอ.ขึ้นมาทำหน้าที่แทน รัฐบาลยังไม่รู้รายละเอียดอะไรแต่กลีบมีการออกแบบและก่อสร้าง โดยผู้รับเหมาเพียงรายเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนว่ามีที่ไหนเคยทำ
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามีผู้ประมูลงานก่อสร้างรายหนึ่งรับงานที่มีมูลค่าสูงกว่า 1.5 แสนล้านบาท และในทีโออาร์ยังระบุด้วยว่าให้ผู้ชนะประมูลจัดจ้างผู้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเอง ซึ่งตนเป็นห่วงว่าจะมีการซูเอี๋ยเกิดขึ้น เพราะการประมูลงานตามทีโออาร์ในลักษณะนี้ไม่เคยมีที่ไหนทำ โดยทีโออาร์ของ กบอ. ที่ตั้งสมมติฐานขับเคลื่อน โดยตั้งราคาเพดานราคายื่นซองประมูลในลักษณะนี้ถือว่าอันตรายมาก
และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครยืนยันชัดเจนว่าโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร
นายปราโมทย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การบริหารจัดการบรรเทาอุทกภัยอย่างยั่งยืนต้องตั้งสติ ซึ่งรัฐบาลต้องยอมเสียเวลาที่ผ่านมา เพื่อถอยออกมา ถ้ายังฝืนเดินต่อไปจะติดขัดถาวรไม่รู้อีกกี่ด่านและกลายเป็นอนุสาวรีย์แบบโฮปเวลล์ เพราะหากไม่สำเร็จก็จะเกิดฮั้วและโกงทั้งหมด.
...