“บุญทรง” ยันใหญ่สุดในกระทรวงพาณิชย์ ยุบุคคลที่ 3 ที่ถูกกล่าวพาดพิงดำเนินการตามกฎหมาย ชี้รับจำนำข้าวทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้าน "เต้น" อัด "หมอวรงค์"ยกเมฆปูดเอกชนกินส่วนต่างอื้อ …

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 20.55 น. วันที่ 30 พ.ค. 56 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงระหว่างอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯว่าการที่มีผู้อภิปรายพาดพิงบุคคลที่ 3 และพูดถึงอำนาจบริหารกระทรวงนั้น ตนยืนยันว่าอำนาจการบริหารในกระทรวงไม่มีใครใหญ่กว่าตน การกล่าวถึงใครอย่างไรนั้นคงไม่เป็นความจริง เพราะผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก็ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนการพาดพิงถึงบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย บุคคลเหล่านั้นก็จะใช้เอกสิทธิ์ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

นายบุญทรง กล่าวต่อว่า การอภิปรายส่วนใหญ่ไม่ได้อภิปรายตัวเลขในร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ แต่อภิปรายโครงการรับจำนำสินค้าการเกษตร โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวและอภิปรายโจมตีจนทำให้เกิดความรู้สึกว่าโครงการ นี้ไม่ดี แต่จากการพบปะชาวนาสอบถามพบว่าส่วนใหญ่มีรายได้ดีขึ้น ลดภาระหนี้สินจากการขายข้าวในราคาดีขึ้นและหวังว่ารัฐบาลจะดำเนินการโครงการต่อ จึงทำให้รัฐบาลต้องดำเนินการโครงการเพื่อให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งหากผู้อภิปรายเห็นว่าโครงการนี้เลวร้ายให้กลับไปถามชาวนาในพื้นที่ว่าต้องการให้เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกโครงการหรือไม่ ซึ่งไม่อยากให้นำเรื่องเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะชาวนาได้รับความเสียหาย

'เต้น'อัด'หมอวรงค์'ยกเมฆ ปูดเอกชนกินส่วนต่างจำนำข้าวอื้อ

...

จากนั้น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ชี้แจงต่อว่า หลายประเด็นที่มีการอภิปรายไม่ใช่ข้อเท็จจริง สร้างความเสียหายและทำลายความน่าเชื่อถือให้โครงการรับจำนำของรัฐบาล โดยเฉพาะการที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าเมื่อ 21 ธ.ค.2554 มีการขายข้าวจากรัฐบาลให้เอกชน 5,700 บาทต่อตันแล้วเอกชนไปขายต่อ 12,000 บาทต่อตัน มีส่วนต่าง 6,300 บาทต่อตัน เข้ากระเป๋ากลุ่มทุนค้าข้าว ซึ่งยืนยันว่าข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะ รัฐบาลมีมติระบายข้าวที่เสียหายจากอุทกภัยใหญ่เมื่อปี2554 จำนวน 200,000 ตัน โดย 3,500 ตันอยู่ในโรงสีทรัพย์ยืนยง จ.กำแพงเพชร และในจำนวนนี้เป็นข้าวค้างเก่าไม่ใช่ข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า รัฐบาลก็ประกาศให้ประมูลขายข้าวตามปกติ โรงสีที่ประมูลได้คือโรงสีโชควรลักษณ์ในราคา 5,700 บาทต่อตัน รวมมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท จากนั้นโรงสีวรลักษณ์ก็นำไปขายต่อในราคา 12,000 บาทต่อตันกับโรงสีทรัพย์ยืนยง ขณะที่ราคาข้าวขณะนั้นราคา 16,000 บาทต่อตัน มีส่วนต่าง 6,300 บาทต่อตัน ดังนั้นการที่ระบุว่ามีเอกชนได้ประโยชน์ก็ไม่ได้เป็นความจริง ถือเป็นตัวเลขที่ยกเมฆ