ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายจะยังมีความเห็นต่างกันอยู่ แต่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังเดินหน้าต่อไป ก่อนเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่สหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ฝากข้อเสนอเป็นการบ้านให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิด โดยเสนอให้ 3 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านและวุฒิสภา ร่วมกันหารือและจัดทำร่างญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างเดียวกัน เพื่อป้องกันความขัดแย้ง และให้ลงประชามติขั้นสุดท้าย

หลังจากที่รับฟังความเห็นของสมาชิก 2 สภา เกี่ยวกับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่ามีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ถ้าปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างเสนอแก้ไข แทนที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ แต่จะกลับ กลายเป็นความขัดแย้ง และอาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย นายกรัฐมนตรีจึงเสนอให้เสนอญัตติขอแก้ไขเป็นร่างเดียวกัน

นับว่าเป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าแต่ละฝ่ายยังยึดหลัก "ตัวกู ของกู" ไม่เอาผลประโยชน์ส่วนตนวางไว้ก่อน และเอาผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นตัวตั้ง การแก้ไขยากจะประสบความสำเร็จ ส่วนข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีที่อาจจะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการอิสระ เพื่อจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีเหตุผล

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในบางประเทศแก้ไขได้ง่าย แต่บางประเทศแก้ไขได้ยาก ตัวอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ จะต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชนหลายขั้นตอน กว่า 200 ปีของการก่อตั้งประเทศ สหรัฐฯจึงมีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว แต่แก้ไข 27 ครั้ง ส่วนของไทยแก้ไขได้ง่ายกว่า ฉีกทิ้งได้ง่ายกว่า จึงมีถึง 18 ฉบับ ในแค่ 77 ปี

อย่าลืมว่า  รัฐธรรมนูญ 2550 ที่จะถูกแก้ไข เป็นฉบับแรกที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนในการลงประชามติ ด้วยคะแนนเสียง 14.7 ล้าน ไม่เห็นด้วย 10.7 ล้าน การแก้ไขใดๆ จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม อาจจะผ่านทาง ส.ส.ร. หรือคณะกรรมการอิสระ หรือประชาพิจารณ์ และต้องลงประชามติในขั้นสุดท้าย ไม่ควรเป็นรัฐธรรมนูญของนักการ เมือง และเพื่อนักการเมืองอย่างที่ผ่านๆมา

การออกเสียงประชามติ เพื่อถาม ความเห็นของประชาชน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ถ้าจะแยกถามเป็นประเด็น น่าจะดีกว่าการถามแบบเหารวมทุกประเด็น และจะต้องปฏิบัติตามผลของประชามติด้วย คือถ้าเสียงข้างมากเห็นด้วย ก็ประกาศใช้ ถ้าไม่เห็นด้วย ประเด็นนั้นก็ตกไป ต้องไม่เหมือนประชามติคราวก่อน  ที่ระบุว่า  เสียงข้างมากไม่เห็นด้วย ให้ คมช.เอารัฐธรรมนูญเก่ามาปัดฝุ่นใช้

ถ้าเอาแบบประชามติครั้งก่อน เท่ากับว่าไม่เคารพเสียงข้างมากของประชาชน ทำให้ประชามติไร้ความศักดิ์สิทธิ์ แต่เสียงของผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คนใหญ่กว่า และควรถือเป็นประเพณีว่า การร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน ทำให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง หวงแหนสิทธิเสรีภาพและรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ใครมาฉีกเล่นกันง่ายๆ.

...