ทีมทนายฝ่ายไทย ให้การศาลโลกรอบสุดท้าย ย้ำเขมรยื่นตีความเส้นเขตแดนใหม่ไม่มีเหตุผล ไร้สาระ อัดทนายฝ่ายตรงข้ามใช้ทฤษฎีไสยศาสตร์ "อลินา" ยกแผนที่สู้ อัดใช้จินตนาการบิดเบือนแผนที่จนคลาดเคลื่อน ขณะที่"วีรชัย" ซัดปิดท้ายมีเจตนาบ่อนทำลาย ดัดแปลงคำพิพากษาเดิม ระบุเหตุผลฟังไม่ขึ้น และศาลไม่มีอำนาจตีความ...
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2556 เวลา 20.00 น.ตามเวลาประเทศไทย ทีมทนายความฝ่ายไทย ขึ้นให้การด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลกครั้งสุดท้าย โดยทนายฝ่ายไทยพยายามชี้ให้เหตุถึงข้อบกพร่องของแผนที่ภาคผนวก 1 หรือ แผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ที่กัมพูชากล่าวอ้างต่อศาล เพื่อให้ตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 กรณีพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร โดยศ.อแลง แปลเลต์ ทนายความชาวฝรั่งเศสของไทย เป็นคนแรกที่ขึ้นกล่าวให้การทางวาจา ระบุว่า ข้อเรียกร้องของกัมพูชาต่อศาล ดูแล้วไม่มีประเด็นเพียงพอต่อการตีความ การหยิบยกเรื่องข้อพิพาท ต้องเกี่ยวข้องกับที่ศาลตัดสินไปแล้ว และคำพิพากษาต้องมีความกำกวม ต้องมีมูลของการให้เหตุผลในการตีความ ซึ่งกัมพูชาพยายามจะทำให้เรื่องนี้มีผลตามมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับบูรณภาพเหนือดินแดน หรืออำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนกัมพูชา

...
พร้อมย้ำว่า กัมพูชาพยายามบิดเบือนเพื่อให้ศาลตีความในเรื่องเส้นเขตแดน รับรองสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งไม่เป็นไปตามตรรกกะที่ศาลจะรับฟังได้ แต่เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะศาลสามารถบอกขอบเขตของปราสาทพระวิหารได้ และกำหนดอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารได้ แต่ไม่สามารถกำหนดเส้นเขตแดนได้ จึงไม่ควรรับคำร้องของกัมพูชาในครั้งนี้ ซึ่งเมื่อปี 2505 ศาลตัดสินชัดเจนไปแล้ว โดยไทยมีพันธะต้องคืนวัตถุโบราณก็ได้ทำไปหมดแล้ว รวมถึงการคืนอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารและการถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหาร
จากนั้นน.ส.อลินา มิรอง ทีมทนายฝ่ายไทยชาวโรมาเนีย ให้ถ้อยแถลงด้วยวาจา โดยระบุว่ากัมพูชาพยายามที่เปลี่ยนคำร้องใหม่ให้ศาลโลก ตีความเขตแดนด้วย ในปี 1962 กัมพูชาไม่สนใจพื้นที่ภูมะเขือ พื้นที่ทางตะวันตกเลยและให้ผู้เชี่ยวชาญดูพื้นที่ปราสาทและสันปันน้ำ เท่านั้น ขณะที่กัมพูชากล่าวหาว่าไทยปลอม Big Map แต่ไทยเพียงแค่นำเสนอแผนที่เท่านั้น โดยสร้างแผนที่ในส่วนที่ไม่มีอยู่ จากแผนที่อื่นมีอยู่เดิม และย้ำว่า แผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชายึดถือความจริงมีหลายฉบับ แต่กัมพูชาอ้างว่าฉบับที่สำคัญคือปี 1959 เป็นฉบับที่ถูกต้อง โดยกัมพูชานำป้ายมาให้ดู แต่เป็นแค่ป้ายบ่งชี้ถึงเอกสารที่อยู่ในศาลเท่านั้น
นอกจากนี้ กัมพูชามีการบิดเบือนแผนที่ โดยนำแผนที่ภาคผนวก 1 มาขยาย เพื่อกำหนดเส้นเขตแดน ทั้งนี้หากดูจากความพยายามของกัมพูชาที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทำแผนที่โดยพยายามหาเส้นสันปันน้ำ แต่ไม่สนใจพื้นที่ด้านตะวันออกหรือตะวันตกของตัวปราสาทพระวิหาร ดังนั้นกรณีพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรจึงเป็นข้อพิพาทใหม่ ไม่ใช่ข้อพิพาทจากคำพิพากษาในปี 2505 พร้อมกับยืนยันว่า แผนที่แผ่นใหญ่ที่ไทยนำมาแสดงต่อศาลนั้น มีการใช้พิจารณาในคดีที่ศาลตัดสินปี 2505 โดยกัมพูชาไม่ได้อธิบายว่าศาลได้สั่งให้มีการตัดแผนที่นี้ออกมาเพื่อตีพิมพ์ประกอบคำพิพากษา เพราะต้องการให้มีภาพประกอบขอบเขตของบริเวณปราสาทพระวิหาร

ส่วนที่บอกว่าเส้นสันปันน้ำไม่สำคัญนั้น เป็นเฉพาะบริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับเขตแดนส่วนอื่น เพราะแม้แต่แผนที่ภาคผนวก 1 กัมพูชายังพยายามที่จะหาเส้นสันปันน้ำ แต่เราอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ใช่โลกแห่งจินตนาการ เพราะการถ่ายทอดเส้นจากแผนที่ภาคผนวก 1 ลงสภาพภูมิประเทศจริง ๆ จะถ่ายทอดอย่างไร ซึ่งผู้พิพากษายูซูปก็ได้ตั้งคำถามนี้ ซึ่งกัมพูชาได้ให้ดูภาพขยายของแผนที่โดยตีความบริเวณใกล้เคียงปราสาทว่าเป็้นเส่นเดียวกับแผนที่ภาคผนวก 1 แต่กัมพูชาใช้แผนที่ที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามีความแม่นยำน้อยที่สุด และคลาดเคลื่อนจากภูมิประเทศที่แท้จริง ดังนั้นกัมพูชาจึงทำแผนที่ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ด้วยการขยายแผนที่แต่ก็ไม่สามารถแสดงภูมิประเทศที่แท้จริงได้ และไม่ได้พูดถึงการถ่ายทอดเส้นลงมาบนโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงการไม่คำนึงถึงสันปันน้ำก็เท่ากับไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญา 1904 ที่ใช้เรื่องสันปันน้ำในการปักปันเขตแดน
ขณะเดียวกันไม่สามารถบอกได้ว่ากัมพูชาทำอย่างไรในการกำหนดเส้นในแผนที่ของตัวเองโดยผู้เชี่ยวชาญพยายามกำหนดจุดร่วมระหว่างแผนที่ปัจจุบันกับแผนที่ภาคผนวก 1 มีสองปัญหาคือมีจุดร่วมน้อยมาก ส่วนใหญ่คลาดเคลื่อนหมด และเมื่อใช้พิกัดมาเป็นตัวถ่ายทอดก็ได้ผลออกมาว่าจุดร่วมบางครั้งไกลกันมาก และบิดเบือนไปจากความเป็นจริงแสดงถึงความคลาดเคลื่อนของแผนที่ภาคผนวก 1
ทั้งนี้ ถ้าพยายามนำจุดร่วมจากปราสาทพระวิหารมาถ่ายทอดก็ต้องถามว่าเป็นสิ่งที่กัมพูชาต้องการหรือไม่ เพราะที่ราบบางส่วนจะอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย กัมพูชาจะยินยอมหรือไม่ อย่างไรก็ตามหากใช้แผนที่ภาคผนวก 1 มาถ่ายทอดจะพบว่าเบี่ยงเบนไปจากเส้นสันปันน้ำค่อนข้างมาก ไอบีอาร์ยู แนะนำว่า วิธีธรรมชาติเท่านั้นที่จะเป็นเส้นเขตแดนที่มั่นคง ดังนั้นการใช้สันปันน้ำไม่ใช่เรื่องสมมติแต่เป็นเส้นที่มีอยู่จริงและควรใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดน
ขณะที่ศ.โดนัลด์ เอ็ม แม็คเรย์ ทนายความฝ่ายไทย ชาวแคนาดา ให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาคนต่อไปว่า กัมพูชาที่ได้ให้ถ้อยคำต่อศาลโลกไม่ว่าด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร ที่ได้นำบทปฏิบัติการวรรคหนึ่งและวรรคสองมาปนกัน ต้องการสร้างความสับสน หากพิจารณาตามคำพิพากษาของศาลโลก เมื่อปี 1962 ผู้พิพากษาได้ระบุเพียงพื้นที่ที่ตัวปราสาทพระวิหารที่กัมพูชามีอธิปไตย เหนือ คือ พื้นที่สามเหลี่ยมของขอบหน้าผาและมีความลาดเอียงไปทางเหนือ โดยไม่ระบุถึงข้อความที่บ่งชี้ถึงเรื่องพื้นที่พิพาทหรือพื้นที่บริเวณใกล้ เคียงรอบปราสาท

อย่างไรก็ตามกัมพูชาไม่ยอมรับความจริงในส่วนที่คำพิพากษาในปี 1962 ไม่เกี่ยวกับเรื่องดินแดน หรือเขตแดน และได้มีการคาดคะเนเอาเองว่าศาลฯหมายความไว้ว่าอย่างไร ทั้งนี้ในพจนานุกรมของกัมพูชา ได้ให้ความหมายคำว่าขอบดินแดน คือ เส้นแผนที่ทำให้กัมพูชาได้เปลี่ยนตรรกะอย่างน่าทึ่งว่า บริเวณใกล้เคียง คือ ดินแดนของกัมพูชา และถือเป็นเส้นเขตแดนของประเทศกัมพูชา
ดังนั้นการตีความคำว่าบริเวณใกล้เคียง ของเซอร์แฟรงคลิน เบอร์แมน ทนายความฝ่ายกัมพูชา ชาวสหราชอาณาจักร เป็นการใช้ทฤษฎีแบบไสยศาสตร์ โดยมองข้ามคำพิพากษา และไม่สนใจข้อเท็จจริง เมื่อศาลตัดสินสิ่งที่เป็นคุณกับกัมพูชาแล้ว ก็ได้เปลี่ยนจากพื้นที่ปราสาท ไปเป็นบริเวณอื่นที่กว้างว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้การคาดคะแน หรือลูกแก้วเท่านั้น เรื่องที่โวยวายมากที่สุด คือ มติ ครม. เมื่อปี 1962 เส้นแผนที่สีแดง และรั้วลวดหนาม ที่ไม่มีพันธกิจที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งตรงกับสุภาษิตโบราณว่า พยายามอ้างกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายไม่เกี่ยวข้องกันตนเอง
เช่นเดียวกับศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ทนายความฝ่ายไทยชาวออสเตรเลีย กล่าวว่า การที่กัมพูชาอ้างว่า ศาลปฏิเสธที่จะใช้สันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน แต่ในความเป็นจริงแล้วศาลโลกเห็นชัดเจนในเรื่องสันปันน้ำ แต่ศาลไม่จำเป็นต้องใช้สันปันน้ำในการตัดสินว่า อธิปไตยเหนือปราสาทเป็นของประเทศใด เพราะกัมพูชาไม่ได้ถามนอกเหนือจากนี้ และผู้พิพากษาหลายท่านยังเห็นด้วยว่า สันปันน้ำที่ฝ่ายไทยได้แสดงนั้นถูกต้อง จากเหตุผลข้างต้น ศาลจึงไม่สามารถตัดสินเรื่องเขตแดนได้ มิฉะนั้นศาลโลกก็ต้องกลายมาเป็นคณะกรรมการปักปันเขตแดนด้วยอีก และการตีความตามธรรมนูญข้อ 60 ทำให้ศาลไม่สามารถตีความในเรื่องที่ยังไม่ได้ถาม
ต่อมานายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ขึ้นแถลงปิดท้าย โดยระบุว่า ปัญหาเขตแดนอยู่นอกเหนือขอบเขตคำพิพากษาปี 2505 และศาลไม่ได้ตัดสินให้เป็นเรื่องคู่ความต้องตกลงกันเอง โดยเรื่องเขตแดนมีปัญหาแค่อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ไทยมีความคงเส้นคงวาเรื่องเส้นสันปันน้ำมาโดยตลอด รวมถึงปราสาทพระวิหารอยู่ในฝั่งไทยตามแนวเส้นสันปันน้ำ ซึ่งแม้ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลในปี 2505 แต่ก็ปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ ยังยืนยันเรื่องขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่พิพาทเดิม โดยแสดงหลักฐานในเรื่องเส้นขอบเขตปราสาทพระวิหารตามมติ ครม.ปี 2505 ที่ยื่นต่อศาลตั้งแต่แรก และมีหลักฐานว่าสอดคล้องกับสิ่งที่กัมพูชายอมรับว่าเป็นพื้นที่พิพาทครั้ง แรกที่ทั้งไทยและกัมพูชาเข้าใจตรงกัน แต่นิสัยกัมพุชาชอบแย่งหลักฐานของไทยไปใช้ อีกทั้งจุดยืนก็ไม่คงเส้นคงวามาตลอด ในหลายช่วงเวลาด้วยกันของกัมพูชา เร่ิมจากการพิจารณาครั้งแรกขอให้พิพากษาเรื่องบูรณภาพเหนือปราสาท แต่ต่อมาขอให้พิพากษาเขตแดนและสถานภาพทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 จึงไม่น่าประหลาดใจศาลปฏิเสธที่จะตัดสินเรื่องนี้โดยไม่มีอยู่ในคำพิพากษาปี 2505
อีกทั้งกัมพูชาในปัจจุบันแตกต่างจากอดีต เพราะในปี 1969 ยื่นแผนที่ภาคผนวก 1 ให้ศาล แต่วันนี้เป็นอีกฉบับหนึ่ง โดยไม่สามารถบอกได้ว่าเส้นไหนที่อยากให้ศาลดู และพึ่งเส้นเทียมในการพิสูจน์เส้นแบ่งเขตแดน เพราะแผนที่ภาคผนวก 1 มีปัญหาเรื่องการถ่ายทอดซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าอับอาย และกัมพูชาเคยยอมรับเส้นมติครม.ที่ล้อมรั้วลวดหนามแต่กลับไม่ยอมรับในภายหลัง ทั้งที่ผู้นำสูงสุดของกัมพูชาก็ยอมรับว่าแม้จะล้ำไปฝั่งกัมพูชาแต่ก็ไม่กี่ เมตรไม่เป็นประเด็น แต่กัมพูชาวันนี้ไม่ยอมรับและอ้างพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.6 ตารางกิโลเมตร กระทั่งในปี 2011 กัมพูชาขอให้ศาลตีความวรรคสองของข้อบทปฏิบัติการ แต่วันนี้ขอให้ตีความทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสอง
พร้อมย่้ำว่า ความไม่คงเส้นคงวาของกัมพูชาจะเป็นความขัดแย้งในการสร้างเสถียรภาพที่เป็นข้อยุติ ซึ่งคำพิพากษาปี 2505 นั้นศาลต้องการให้มีเสถียรภาพและได้ข้อยุติ คือให้เกิดมิตรภาพที่ยั่งยืน จึงตัดสินเพียงอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารแต่ไม่ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน ส่วนแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญา แต่ศาลไม่ได้บอกว่าให้แผนที่ดังกล่าวแทนที่สนธิสัญญาหรือเป็นแหล่งข้อมูล เดียวในการบอกเส้นเขตแดน ซึ่งการที่กัมพูชาเอาแผนที่มาแทนสนธิสัญญา 1904 เพื่อกำหนดเส้นเขตแดนใหม่โดยไม่ยึดสันปันน้ำ ทั้งที่แผนที่ดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนมาก จึงเป็นความต้องการตามอำเภอใจของกัมพูชาทั้งที่บอกไม่ได้ว่าหากนำมาถ่ายทอด ในโลกความเป็นจริงจะทำอย่างไร แต่ถ้าทำก็จะเกิดปัญหามากขึ้น
ดังนั้นการกลับลำของกัมพูชา ทั้งที่ศาลพยายามป้องกันความไม่แน่นอน เป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพและข้อยุติตามคำพิพากษาของศาลในปี 2505 ในส่วนของประเทศไทย เราไม่ขออะไรมากไปกว่าสิ่งที่ศาลได้ตัดสินในปี 2505 เพราะทุกอย่างปฏิบัติและได้ข้อยุติไปตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว แต่กัมพูชากลับ มีการปลอมแปลงแผนที่ บิดเบือนข้อเท็จจริง ร้องขอในสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้เลย เพื่อให้ศาลรับคำร้องของตัวเอง โดยคำแถลงไทยจึงขอต่อศาลว่า ขอให้ศาลชี้ว่าคดีนี้ไม่มีมูลที่จะตีความใหม่ศาลไม่มีอำนาจ คำร้องกัมพูชารับฟังไม่ขึ้น กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับเส้นเขตแดนต้องทำภายใต้ข้อตกลงเอ็มโอยู 43 ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ข้อยุติหรือทุกอย่างอาจเลวร้ายลงถ้าปล่อยให้กัมพูชาอ้าง เส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 ที่มีความคลาดเคลื่อน
ทั้งนี้ ไทยและกัมพูชามีอดีตในการถูกล่าอาณานิคมเหมือนกันและมีอนาคตร่วมกัน ว่าจะเป็นพี่น้องในชุมชนอาเซียนภายใต้หลักนิติธรรม ดังนั้นคำพิพากษาปี 2505 ต้องไม่ถูกบิดเบือน เพราะมีแต่หลักนิติธรรมเท่านั้นที่จะสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน จึงขอให้ศาลตัดสินว่าคำขอของกัมพูชาในการตีความคำพิพากษาปี 2505 ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลและศาลไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา หรือคำร้องไม่มีมูลไม่มีเหตุผลที่จะต้องตีความคำพิพากษา 2505 เพราะไม่ได้มีการกำหนดเส้นเขตแดนที่ผูกพันไทยและกัมพูชา