สภาป่วนรอบดึกส.ส.พรรคเพื่อไทยจำยอมพ้นห้องประชุม “ดิเรก”จี้รัฐบาลจริงใจสร้างความสมานฉันท์ ขณะที่นายกฯ ย้ำความสมานฉันท์ต้องอยู่บน 3 ด้าน....

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อรับทราบรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ในช่วงหัวค่ำวันที่ 17 ก.ย.2552 ยังคงเป็นไปด้วยความจืดชืด กระทั่งเวลา 22.00 น. นายนายสมคิด บาลไธสง ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นมาอภิปรายด้วยถ้อยคำรุนแรง โดยกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลฆ่าประชาชน ทำให้ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงขอให้ถอนคำพูด แต่นายสมคิด ยังคงยืนยันไม่ถอนพร้อมกับเดินออกไปจากห้องทันที โดยที่นายประสพสุข บุญเดช ประธานที่ประชุมยังไม่ได้สั่ง ต่อมา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมการสมานฉันท์ฯ ประธานอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงว่า การศึกษาจนได้ 6 ประเด็นนี้เป็นเพียงกรอบเบื้องต้น พยายามหลีกเลี่ยงไม่ยุ่งเกี่ยวบทบัญญัติรัธรรมนูญ รายงานที่ทำไม่มีกล่าวหาว่ารัฐธรรมนูญ 50 ไม่ดี และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับองค์กรตรวจสอบ กระบวนการศาลเลย ไม่ได้หวังว่าสมาชิกจะต้องเห็นชอบด้วยทั้ง 6 ประเด็น

นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ชี้แจงว่า เวลา 2 วัน 2 คืนที่สมาชิกร่วมแสดงความเห็น ในฐานะประธานคณะกรรมการฯขอรับคำติติงไว้ บางคนเปรียบคณะกรรมการฯชุดนี้เป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคหนึ่ง แต่เราถูกตั้งขึ้นในภาวะวิกฤต ที่ประมุข 3 ฝ่าย คือ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาฯ ประธานวุฒิสภา เห็นพ้องกันตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา เป็นความชาญฉลาดที่เลือกคู่กรณีทุกฝ่ายมาร่วมกันคิด จะได้นำไปปฏิบัติต่อไปได้ หากไม่ได้คู่กรณีมานั่งคุยกันคงนำไปปฏิบัติไม่ได้ แนวทางของคณะกรรมการฯจึงเกิดจากความคิดของทุกฝ่าย กว่าจะนำมาเรียบเรียงรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ ต้องรวบรวมจากทุกความคิด ทุกคำพูด ผิดความหมายไปก็ไม่ได้ ข้อแนะนำที่สมาชิกเสนอมา ก็อยู่ในรายงานนี้ทั้งหมด ขอให้ไปอ่านทุกตัวอักษร และนำทั้ง 3 กรอบไปปฏิบัติพร้อมกัน โดยเริ่มที่การเจรจาก็จะบังเกิดผล ขณะนี้เหลือเพียงการปฏิบัติจากฝ่ายรัฐบาลและรัฐสภา เชื่อว่า เราสมานฉันท์ได้ ถึงเวลาที่ประเทศต้องเดินไปสู่การสมานฉันท์ที่แท้จริง

...

จากนั้นเวลา 22.25 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นกล่าวปิดการประชุมว่า กับคำถามต่อรัฐบาลถึงจุดยืนของรัฐบาล โดยเฉพาะคำพูดของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ในหลายกรณี ขณะนี้บางคดีความอยู่ในชั้นศาล ก็คงต้องรอให้ศาลตัดสิน สำหรับความสมานฉันท์ต้องอยู่บน 3 ด้านคือ ด้านนโยบาย ได้ยืนยันหลายครั้งว่า ไม่มีแบ่งแยกคนไทย ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ขอย้ำว่าทุกครั้งที่มีการรายงานความคืบหน้าแต่ละคดี ได้ย้ำเจ้าหน้าที่ทุกครั้งอย่าเลือกปฏิบัติ เราต้องหาคำตอบในเรื่องการเมือง การรัฐประหารสร้างบาดแผลให้ระบบการเมือง รัฐธรรมนูญ 50 นี้มีความก้าวหน้า แต่ที่สลัดไม่หลุดคือ สิ่งที่รัฐประหารทิ้งไว้ เพราะเป็นเชิงสัญลักษณ์ แต่หลายเรื่อง ตนเห็นด้วยที่มีการอุดช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ 40 แต่ที่สุดโต่งและสร้างปัญหาใหม่ก็ต้องแก้ไข แต่จะชั่วดีอย่างไรรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการประชามติ ถึงบางคนบอกกระบวนการประชามติไม่เป็นธรรม แต่ภาพรวมกกต.ทำได้ดีระดับที่ยอมรับได้ เราคำนึงถึง 10 ล้านเสียงที่ไม่รับว่าคงต้องมีอะไรปรับปรุง ตนไม่เคยพูดที่ไหนว่าไม่ควรแก้ไข เพียงแต่ประเด็นที่จะแก้ยังมองต่างกัน ประเด็นที่ยกขึ้นมาถูกตั้งครหาว่าแก้เพื่อใคร

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จึงหารือกันว่าให้เอาทุกประเด็นมาวาง แต่จะให้ตนริเริ่มทำก็จะหาว่าเรามีเจตนาแอบแฝง จึงมาพึ่งประธานรัฐสภาตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมา ศึกษาเสร็จผ่านมาหลายเดือน แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเพราะอีกชุดยังทำไม่เสร็จ ถ้าตนซื้อเวลาก็ต้องอยู่เฉย แต่หารือกับประธานรัฐสภาดำเนินการตามมาตรา179 จึงไม่มีอะไรที่ตนไปบิดเบือนสิ่งที่จะทำ บางคนบอกให้ตนเลือกว่าจะเป็นทรราชย์ หรือจะเป็นวีรบุรุษ ยืนยันว่าไม่มีใครเลือกเป็นทรราชย์ และไม่มีลักษณะอะไรจะเป็นเช่นนั้น และไม่ใฝ่ฝันเป็นวีรบุรุษแต่เชื่อการทำหน้าที่ตามปกติของแต่ละคน ขอทำด้วยความสุจริตเต็มความสามารถ 9 เดือนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่มีประโยชน์ส่วนตัวงอกเงย ถึงตรงนี้ไม่ต้องคลางแคลงใจว่าจะมีวาระแฝง เรื่องนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิดด้วย 2 ปัจจัย 1. พวกเราเองยังเห็นไม่ตรงกัน 2. มีกลุ่มวลชนเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ก็เตือนอย่ามองข้ามบทบาทการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ส่วนเสื้อแดงเองตนก็เห็นว่ามีจิตวิญญาณ

นายอภิสิทธิ์  กล่าวว่า การผ่าทางตันได้ 1. ต้องไม่มีร่างแก้รัฐธรรมนูญจากพรรคใดพรรคหนึ่ง ไม่เช่นนั้นเราจะผูกปมความขัดแย้งใหม่ โดยเอา 6 ประเด็นของคณะกรรมการฯเป็นตัวตั้ง ให้ทุกพรรคเข้าชื่อเสนอด้วยกัน 2. ถ้าทำตามปกติจะไม่รู้ว่าประชาชนจะเอาด้วยกับเราหรือไม่ ดังนั้นต้องมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน ทำรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์นี้ออกมา บอกเสนอตั้ง ส.ส.ร.เพื่อซื้อเวลา ยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะตนไม่เคยพูดถึง ส่วนประเด็นไม่ให้มีการตอบโต้กัน พูดง่ายทำยาก ทุกประเทศไม่มีที่ไหนที่การเมืองจะไม่ตอบโต้กัน ก็อยู่ในกรอบวิวาทะเชิงนโยบาย ตนรับได้ แต่บางเรื่องไม่อยู่ในกรอบเช่นเอาเรื่องเท็จมาพูดยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เกินขอบเขต อย่าไรก็ตามข้อเสนอแก้ไขใน 6 ประเด็น ส่วนตัวยังไม่เชื่อว่าปัญหาจะจบ ซึ่งหลังจากตนเดินทางกลับจากประชุมยูเอ็น อยากให้วิป3 ฝ่ายมาตกลงกัน ตนยินดีเป็นเจ้าภาพ แต่ถ้าฝ่ายค้านกลัวรัฐบาลลำเอียง จะให้รัฐสภาทำก็ยินดี ตั้งส.ส.ร.แบบเร็ว ตกลงเลยร้อยละ 25 มาจากส.ส.สัดส่วน ร้อยละ 25 วุฒิ ร้อยละ 25 จากส.ส.ร.ทั้ง 2 ชุด และอีกส่วนมาจากฝ่ายวิชาการ มาเข้าสู่กระบวนการมาตรา 291

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า หรืออีกแนวทาง คือ ยกร่างทั้ง 6 ประเด็น ให้ประชาชนตัดสินลงประชาชนมติ อย่างนี้ตอบคำถามสังคมได้ และอิงกับคณะกรรมการฯ ขณะเดียวกันก็อิงกับประชาชน ไม่ต้องมาเถียงกันว่าชอบธรรมไม่ชอบธรรม ประชามติเรียงตามประเด็น ขณะที่แนวทางที่ 3-4 ก็มี มี ส.ว.มาเสนอแนวทางให้ตั้งกรรมการอิสระก็เป็นอีกแนวทาง และแก้เสร็จจะเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่มีปัญหา กรอบหลายอย่างเดินได้แล้ว ไม่คิดว่าจะใช้เวลาเป็นปี แต่เป็นเดือน เพียงแต่มีกระบวนการแต่ละส่วน ถ้ารับกันอย่างนี้ได้กลับจากต่างประเทศได้มาคุยกัน ให้วิป 3 ฝ่ายคุยกัน จากนั้นนายชัย ชิดชอบ ประธานที่ประชุมได้สั่งปิดการประชุมเวลา 23.55 น. โดยใช้เวลาถกเถียงรวม 2วัน รวม 30 ชั่วโมง.