นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้เสียงข้างมากต้องฟังเสียงข้างน้อยด้วย แจงระบบองค์กรตุลาการต้องเป็นกลางไม่รับใช้การเมือง ยันไม่เคยทำตามใบสั่งและไม่เคยโดนแทรกแซงการทำงาน ชี้หลายคนไม่เข้าใจคำว่าสองมาตรฐาน เผยเหตุแตกแยกในไทยเริ่มขึ้นจากการถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ โบ้ยสื่อตอกย้ำความขัดแย้งในบ้านเมืองเพิ่มขึ้น วอนผู้มีอำนาจสร้างความปรองดองกับประเทศ...

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ห้องประชุมสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้มีการจัดงาน "วันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2556" โดยมีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ความปรองดอง ความยุติธรรม และประชาธิปไตย" ตอนหนึ่งว่า ระบอบประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้ง แน่นอนว่าถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ก็จะไม่ใช่ประชาธิปไตยซึ่งเพราะอย่างน้อยประชาชนจะต้องมีส่วนในการตัดสินใจ ว่าเลือกใครมาเป็นผู้แทนที่จะมาออกกฎหมาย การดูแลประเทศ แต่แน่ใจได้อย่างไรว่าประชาชนเข้าใจถึงประชาธิปไตย นักการเมืองชอบพูดกันมากว่า คืนอำนาจให้ประชาชน แปลว่าแกเอาอำนาจฉันไปใช้หรือ เพราะความจริงอำนาจเป็นของประชาชน ที่ได้มอบหมายให้ผู้แทนเป็นผู้ดำเนินการแทน จึงไม่จำเป็นต้องมาคืนอำนาจให้กับประชาชน เพียงมีกติกาว่า ผู้ได้รับเสียงข้างมากเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายดูแลประเทศ ดูแลภายใต้กฎกติกา ไม่ใช่ดูแลตามอำเภอใจ การชนะการเลือกตั้งถือว่าได้รับมอบหมายจากประชาชนส่วนใหญ่ให้ดูแลประเทศ ไม่ใช่ได้รับใบอนุญาตให้ยึดสัมปทานของประเทศ การบริหารประเทศไม่ใช่บริหารธุรกิจ เอกชน หากจำเป็นต้องแก้ไขกฎของบริษัท ก็สามารถแก้ไขได้ภายในวันเดียวเสร็จ แต่การบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายบริหารต้องเอาเรื่องเข้าสู่สภา เพื่อเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบถึงผลดีผลเสียในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีการกฎกติกาละแบบ

นายวสันต์ กล่าวว่า โดยบางครั้งเสียงมากมักยึดติดในอำนาจ หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ ฮิตเลอร์ได้เป็นผู้นำประเทศเยอรมัน ที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อชนะการเลือกตั้งจนมีเสียงข้างมากในสภา แต่กลับแก้ไขกฎกติกา แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง จนนำพาประเทศเกิดความหายนะ ประเทศเยอรมันมีบทเรียนราคาสูง จึงทำให้มีศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจ ไม่ต้องมีใครมายื่นคำร้อง โดยถ้าศาลเห็นฝ่ายบริหารกำลังจะละเมิดรัฐธรรมนูญ ศาลสามารถตั้งเรื่องเองและเรียกฝ่ายบริหารมาไต่สวน ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ชอบก็สามารถสั่งห้ามได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญของไทยลอกของเยอรมันมาในรัฐธรรมนูญปี 40 มาตรา 63 และรัฐธรรมนูญ ปี 50 มาตรา 68 ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ว่าจะให้เป็นสิทธิของประชาชนที่จะดูแลกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่เอามาไม่หมด ที่ถือว่าเป็นสิทธิของประชาชน ไม่ใช่สิทธิของคนอื่น อยากจะตอบคำถามถึงการที่ยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ที่ผ่านมา ว่าทำไมถึงรีบเรียกประชุม คือคำร้องมีคำขอให้คุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินด้วย ก่อนที่จะมีการพิจารณาถึงคำร้องในกรณีฉุกเฉิน ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าจะรับคำร้องไว้หรือไม่ ถ้าไม่รับคำร้องคำขอก็ตกไป ถ้ารับคำร้องจึงมาพิจารณาต่อไปว่าจะคุ้มครองตามเหตุฉุกเฉินหรือไม่ ตนเป็นเสียงข้างน้อยที่เห็นควรยังไม่ควรรับคำร้องในขณะนี้ เมื่ออยู่ในคณะเดียวกัน เราจำเป็นต้องปฏิบัติตามเสียงข้างมาก ไม่ว่าศาลไหนในระบอบประชาธิปไตยเราก็ต้องเคารพเสียงข้างมากและฟังความเห็น เสียงข้างน้อย เพราะฉะนั้นคำวิจารณ์ที่ระบุว่า ลุกลี้ลุกลน รีบเรียกประชุม น่าจะเป็นคำวิจารณ์ของคนที่ไม่รู้หรือรู้ไม่จริง แต่สู่รู้ในทางกฎหมายในความเห็นไม่ตรงกัน ไม่ว่ากัน แต่ต้องรู้ข้อเท็จจริงที่เหมือนกัน

ระบอบประชาธิปไตยยอมรับในเสียงข้างมากและต้องฟังความเห็น เสียงข้างน้อย แต่ต้องให้เป็นไปตามกฎกติกา ไม่ใช่ทำเองตัดสินเอง อย่างนั้นก็ตัดสินถูกอย่างเดียว ไม่มีผิด เพราะฉะนั้นผู้ที่มาตัดสินต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนที่การวิพากษ์วิจารณ์ที่ศาลจะต้องยึดโยงกับประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ใช้อำนาจตุลาการ ที่เป็นหนึ่งในอำนาจเลือกตั้ง ถ้าถามว่าจะให้เลือกตั้งผู้พิพากษา ไม่ได้ เพราะเป็นอย่างนั้นหัวคะแนนชนะคดีทั้งหมดจริงหรือไม่ ตีหัวใครก็ผิด หรือที่จะให้ประธานศาลฎีกาจะให้ผ่านความเห็นชอบจากสภา ดังนั้น ถ้า กต.แต่งตั้งประธานศาลฎีกาไม่ถูกใจหรือเห็นชอบนักการเมือง เพราะฉะนั้นใครอยากเป็นประธานศาลฎีกา ก็ให้ทำตัวเป็นสมุนของนักการเมืองแล้วจะได้ดี ต้องการอย่างนั้นหรือไม่ ดังนั้นจะต้องให้คนกลางมาทำหน้าพิจารณาข้อขัดแย้งทั้งหลาย ไม่เช่นนั้นต่างฝ่ายต่างทำตามอำเภอใจ บ้านเมืองไม่สงบ เมื่อจะเป็นประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายเล่มเดียวกัน ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของตนเองว่า ไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น อย่างการที่ออกมาชุมนุม อ้างสิทธิตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 50 แต่กลับออกมาปิดถนน ปิดร้านค้า จนประชาชนเดือดร้อน"นายวสันต์กล่าว

นายวสันต์ กล่าวว่า ระบบของความยุติธรรมที่เกี่ยวโยงกับระบบอุปถัมภ์หรือไม่ ถ้าถามว่าตุลาการยึดโยงกับประชาชนตรงไหน ยึดโยงกับโครงสร้างกฎหมายที่สภาเป็นผู้ออกมา สำหรับสังคมไทยในระบบอุปถัมภ์มีทั้งข้อดีข้อเสีย การตอบแทนบุญคุณคนนั้นเป็นสิ่งที่ดี ใครแต่งตั้งก็ต้องตอบแทนคนนั้น ตนเคยโต้เถียงกับผู้บังคับบัญชาคนหนึ่งว่า การให้การสนับสนุนผู้ใต้บังคับบัญชาถือเป็นหน้าที่ที่ผู้บังคับบัญชาจะต้อง ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความสามารถให้เข้าสู่ยังตำแหน่งสำคัญ ไม่ก่อให้เกิดเป็นบุญคุณ แต่ถ้าใช้ทำงานที่ใช้ความสามารถถือว่าเป็นบุญคุณที่ทำให้ได้แสดงความสามารถ เพราะหน้าของผูบังคับบัญชา คือ ผลักดันคนที่มีความสามารถ ดังนั้นจึงไม่มีวันนี้เพราะพี่ให้ ถ้ามีวันนี้เพราะพี่ให้ แสดงว่าไม่มีพี่ให้คงไม่มีวันนี้ โดยในเมืองไทยมีระบบนี้มาก มากจนท่านจะไว้ใจได้หรือไม่จะให้องค์กรกลางหรือองค์กรตัดสินมาจากระบบที่ เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

นายวสันต์ กล่าวว่า ศาลต้องเป็นอิสระจากการแทรกแซงของอำนาจภายนอก แต่ตรวจสอบกันเองภายในได้ ส่วนองค์กรภายนอกมีอำนาจตรวจสอบแต่ไม่มีอำนาจแทรกแซงได้ กลับมีเสียงครหาว่า ศาลมีใบสั่ง ชีวิตตนได้รับใบสั่งแค่ใบสั่งจราจรเท่านั้น แต่ใบสั่งอื่นๆ ไม่มีใครมาสั่งได้ เราจึงอยู่อย่างนี้กันได้ในระบบตุลาการ ไม่ใส่ใจหรือไม่รับรู้กับเสียงที่กล่าวหา ต้องนิ่งและหนักแน่น ทั้งที่ความจริงการออกมติแต่ละครั้ง ก็คละๆ กันไป ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาตนลงความเห็นให้เป็นคุณกับพรรคเพื่อไทยเกือบจะทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องพรรคเพื่อไทยขับ 2 ส.ส.ออกจากพรรค เรื่องพ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เรื่องวินิจฉัยตุณสมบัติการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของนายวราเทพ รัตนากร มีแค่เรื่องนายจตุพร พรหมพันธ์ุ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ความเห็นตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่วายถูกด่า สื่อก็พยายามตัดทอน เล่นงานตน หาว่าสองมาตรฐาน ยิ่งวันที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีให้นายจตุพร เสื้อแดงก็หาว่าสองมาตรฐาน นี่คือว่าไม่รู้จักคำว่าสองมาตรฐาน อย่างเรื่องยุบพรรคทำไมศาลถึงวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิชา เพราะทั้งสามพรรคถูกยุบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 เนื่องจากรรมการบริหารพรรครู้เห็นเป็นใจในการโกงเลือกตั้ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเงินบริจาคพรรค ซึ่งต้องพิจารณาตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ข้อหาคนละอย่างตัดสินไม่เหมือนกันไม่ใช่สองมาตรฐาน

นายวสันต์ กล่าวถึงเรื่องของความปรองดองว่า ก่อนจะปรองดองมันต้องแตกแยกถ้าเราไม่แตกแยก เราไม่ต้องปรองดอง ความแตกแยกในประเทศต่างมีให้เห็นมาก ในเมืองไทย ความแตกแยกอาจเกิดได้หลายกรณี ต้องรู้เหตุและแก้ที่เหตุ แต่ใครจะเป็นคนไปแก้ มีคนบอกว่าประเทศเราแตกแยกเมื่อ 19 ก.ย. 49 แต่ตนว่าไม่ใช่มันเริ่มมาก่อนแล้ว เท่าที่ทบทวนดูน่าจะแตกแยกตั้งแต่ปี 48 จำได้มีรายการออกช่อง 9 คือรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ตอนหลังออกมาขุดคุ้ย พักหลังถูกถอดรายการ มากลายเป็นรายการเมืองไทยสัญจร ไปที่ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สวนลุมพินี ตอนนั้นคนยังมามาก แต่ในช่วงปี 48 มีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และมีการไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ก็เลยมีการชุมนุมเล็กๆ เป็นรายสัปดาห์ขึ้น จนมาถึงช่วงเดือนม.ค.49 ได้มีการออกกฏหมาย พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้มีการเปลี่ยนแปลงเปอร์เซ็นให้คนต่างด้าวมาถือหุ้น จากเดิม 25 เปอร์เซ็น เป็น 40 เปอร์เซ็น ซึ่งหลังจากพ.ร.บ.ดังกล่าวออกมา บริษัทชิน คอเปอร์เรชั่น จำกัด ก็ได้เทขายหุ้นให้กับบริษัท เทมาเสก เป็นจำนวนเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท เหตุการณ์ดังกล่าวก็สร้างความไม่พอใจมาก แต่มีการพูดโต้ตอบกันว่า เป็นการขายหุ้นไม่ได้ขายชาติ

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า อีกทั้งช่วงเดือนก.พ. ก็มีการประกาศยุบสภา เลือกตั้งใหม่ แต่การเลือกตั้งในขณะนั้น พรรคฝ่ายค้านไม่ร่วมลงสมัครเลือกตั้งด้วย ทำให้เกิดเงื่อนไขในการเลือกตั้ง เพราะมีพรรคเดียวที่ลงสมัครเลือกตั้ง นอกจากนี้ช่วงปี 49 ก็ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ ทางการเมืองที่ตามมา จนกลายมาเป็นรัฐบาลคมช. ปี 50 เริ่มมีการชุมนุมของ นปก. ที่สวมเสื้อแดง มีความขัดแย้งเต็มที่ โดยชาวต่างชาติก็มองว่า ความขัดแย้งในไทยเกิดจากฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทั้งหมดนี้เป็นต้นเหตุของความแตกแยก จึงอยากถามว่าเวลานี้คิดจะปรองดองและจริงใจจะปรองดองหรือไม่ การปรองดองจำเป็นต้องพูดคุยกันอย่างประนีประนอมหันหน้าคุยกัน ไม่งั้นก็ไม่มีทางดีกันได้

นายวสันต์ กล่าวว่า อีกส่วนความแตกแยกคือ สื่อ ขณะนี้มีสื่อดาวเทียมเกิดขึ้น พรรคการเมืองต่างมีสื่อดาวเทียม ปลุกระดม มอมเมาคนของตัวเอง พูดจาหยาบคาย สื่อเป็นส่วนหนึ่งของความแตกแยก ดังนั้น สื่อต้องลดความรุนแรงหากอยากเห็นความปรองดอง ต้องบอกคู่กรณีให้ลดลง หากอยากเห็นความปรองดอง จิตใจต้องปรองดอง ปากพูดปรองดอง แต่เอามือไขว้หลังถือมีดดาบพร้อมฟันกัน แบบนี้ปรองดองกันได้ยาก ตนอยากให้บ้านเมืองปรองดอง นิรโทษกรรม ปรองดองทำได้ทั้งนั้น ขออย่างเดียวปรึกษาหารือกันกับผู้รู้ก่อน อย่าให้เรื่องตกมาที่ศาล เดี๋ยวจะมีปัญหาหาว่าศาลรัฐธรรมนูญคือขวากหนามของการปรองดอง และการเขียนกฎหมายต่างๆกรุณาดูรัฐธรรมนูญด้วย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทุกคนอยากเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ดังนั้นจึงอยากฝากความหวังไว้ที่ผู้มีอำนาจให้ช่วยสร้างความปรองดองให้เกิด ขึ้นด้วย.

...