น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอประกาศเจตนารมณ์วันสตรีสากล เน้นภาวะผู้นำยกระดับหญิงไทย พร้อมที่จะผลักดันการพัฒนาสตรีอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อความก้าวหน้าในทุกมิติ ....

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ห้องรอยัล จูบิลี บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน"สตรีไทยพลังสร้างสรรค์ประเทศไทย" เนื่องในวันสตรีสากล โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ประชาชนชาวไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงให้ความสำคัญกับกิจการพัฒนาสตรีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิต การสร้างอาชีพ รวมทั้งการพัฒนาบทบาทสตรีให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ พระวิริยอุตสาหะในการทรงงานของพระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับทุกภาคส่วนในการผลักดันงานทางด้านสตรี

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสตรีไทยได้มีบทบาททั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโดดเด่นมากกว่าในอดีต ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของโอกาส และยังมีสตรีอีกจำนวนมากเป็นเหยื่อของความรุนแรงในหลายรูปแบบรัฐบาลได้กำหนด ให้การพัฒนาสตรีเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล และพร้อมที่จะผลักดันการพัฒนาสตรีอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้สตรีไทยมีความก้าวหน้าในทุกมิติ โดยในระยะแรกได้ตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนงาน ตนขอประกาศเจตนารมณ์เป็นของขวัญวันสตรีสากล ดังนี้ 1. พัฒนาสตรีไทยให้มีสุขภาพดี โดยเริ่มจากการสร้างอาสาสมัครตรวจมะเร็งเต้านม 1 ล้านคน ภายในเดือนมิถุนายน 2556 และขยายผลให้สตรีไทยอย่างน้อย 20 ล้านคน มีความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และการตรวจมะเร็งเต้านมภายใน พ.ศ. 2557 2. พัฒนาสตรีไทยให้รอบรู้ ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยภายใน 1 ปี จะมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้วย ICT จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อให้สตรีอย่างน้อย 1 ล้านคนทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต และ IPTV เพื่อเพิ่มพูนความรู้ผ่านการเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้ พร้อมทั้งสนับสนุนให้กลุ่มสมาชิกสตรีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 รายได้เรียนรู้การทำร้านค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Thailandmall.net

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า 3. พัฒนาสตรีไทยพร้อมก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยเปิดศูนย์เรียนรู้สู่อาเซียน จาก 22 ศูนย์ นำร่อง ในจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2556 และจัดตั้งเพิ่มเติมกว่า 1,000 ศูนย์ ในปี 2557 เพื่อให้สตรีอย่างน้อย 1 ล้าน 2 แสนคน มีความรู้ภาษาอาเซียนอย่างน้อย 1 ภาษา โดยสามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารเพื่อการประกอบอาชีพ

ส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่มเติมจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 4. จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม (One Stop Crisis Center) โดยความร่วมมือของหน่วยงานราชการ 21 หน่วยงาน รวมทั้งมูลนิธิ องค์กรเอกชน รวมกว่า 20,000 จุดทั่วประเทศ เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือสตรี เด็ก คนชรา ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม รวมทั้งรับแจ้งเบาะแส พัฒนาระบบการส่งต่อ และติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อให้ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง เหยื่อของการค้ามนุษย์ ให้ได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด สะดวกที่สุด และมีการติดตามการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ศูนย์นี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก การกระทำความรุนแรง รัฐบาลจะเน้นนโยบายในการส่งเสริมศักยภาพของสตรีเพื่อให้มีภาวะผู้นำมากขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ โดยจะมีการสร้างกลไกเพื่อเพิ่มโอกาสให้สตรีแสดงศักยภาพ พร้อมยกระดับภาวะผู้นำ.

...