ในการประชุมทางวิชาการเรื่อง "ทางรอดของประเทศไทย" ที่สถาบันพระปกเกล้ากับอีกหลายองค์กร รวมทั้งสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดขึ้น เมื่อสองวันที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ร่วมกันปรึกษาหารือและพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับกติกาทางสังคมและกฎหมายในการชุมนุมโดยสงบ และร่วมกันอภิปรายในเรื่องที่สำคัญยิ่ง คือการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
เกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้นำทางสังคม และสื่อมวลชนอาวุโส เห็นว่าขณะนี้สังคมไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ ที่มีการกำหนดมาตรการและลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติทั้งของผู้ชุมนุม และผู้ดูแลการชุมนุมที่ชัดเจนเพียงพอ แต่ กฎหมายการจัดระเบียบการชุมนุมจะต้องไม่ขัดกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
ประเทศไทยไม่มีกฎหมายจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ ทั้งๆที่ในระยะ หลังๆนี้ การชุมนุมได้กลายเป็นส่วนที่สำคัญของ เกมการต่อสู้ทางการเมือง ที่มีความสำคัญไม่ น้อยกว่าการต่อสู้ในรัฐสภา และอาจจะมีคนบางกลุ่มยึดถือเป็นหลักการว่า เรื่องที่ไม่สามารถเอาชนะได้ในสนามเลือกตั้งหรือในสภา อาจจะเอาชนะได้ด้วยการชุมนุมตามท้องถนน จึงมีอยู่หลายครั้งที่การชุมนุมนำไปสู่ความรุนแรง
จากการศึกษาของ ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าหลายประเทศมีกฎหมายจัดระเบียบการชุมนุมสาธารณะ เช่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่ประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนา เช่น เยอรมนีและฝรั่งเศส ส่วนประเทศไทยมักจะงัดเอากฎหมายอาญา หรือกฎหมายการจราจรมาใช้ และกลายเป็นปัญหาทั้งต่อผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษาความสงบเรียบร้อย
ในระยะหลังๆ การชุมนุมโดยสงบนำไปสู่ความรุนแรงบ่อยครั้ง รัฐบาลจึงต้องงัดเอากฎหมายพิเศษออกมาใช้ เช่น กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ ซึ่งอาจจะทำให้ไทยกลายเป็นตัวประหลาดในสายตาของประชาคมโลก เพราะ ว่าถ้าจะมีการชุมนุมกันที รัฐบาลก็ต้องงัด กฎหมายพิเศษมาใช้ และต้องระดมกำลังทหาร ตำรวจ ราวกับว่าจะไปรบทัพจับศึก
ที่ประชุมทางวิชาการจึงเห็นพ้องกันว่า บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีกฎหมายจัดระเบียบการชุมนุม เพื่อให้ เป็นกติกาการชุมนุมที่ชัดเจน เป็นที่เข้าใจและยอมรับด้วยกันทุกฝ่าย เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบจริงๆ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เสนอว่า นอกจากเรื่องอื่นๆแล้ว กฎหมายนี้ ควรจะมีบทบัญญัติ "ห้ามจ้างคนมาชุมนุม" ด้วยประเด็นนี้ต้องถือว่าเป็นลักษณะพิเศษของสังคมไทย
แต่การออกฎหมายเป็นกระบวน การที่ยืดยาวต้องใช้เวลา ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายการชุมนุมใช้บังคับ แต่การชุมนุมก็ยังต้องมีต่อไป ที่ประชุมทางวิชาการเสนอให้จัดเวทีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็น ผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติ และผู้นำภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันกำหนดกติกาในการชุมนุม และแนวทางปฏิบัติที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงเฉพาะหน้า.
...