กทม. เผย สมัครผู้ว่าฯกทม.วันแรก มีผู้มาสมัคร ทั้งสิ้น 18 ราย คนสุดท้ายที่มายื่นใบสมัครในวันนี้ นางนันท์นภัส โกไศยกานนท์ ขณะที่สถิติ เลือกตั้งครั้งที่แล้ว เขตวัฒนาใช้สิทธิ์มากที่สุด ส่วนเขตดุสิตใช้สิทธิ์น้อยสุด

ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 56 ซึ่งตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง นางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 และข้อ 7 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554 และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ในการประชุมครั้งที่ 4/2556 เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 56 จึงประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันที่ 3 มี.ค. 56 และกำหนดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 21–25 ม.ค. 56 เวลา 08.30-16.30 น. ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม.นั้น

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. เป็นวันแรกของการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่ามีผู้ประสงค์สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาถึงสถานที่รับสมัครและลงทะเบียนก่อนเวลา 08.30 น. จำนวน 18 ราย เมื่อถึงเวลา 08.30 น. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.ทถ.กทม.) ได้กล่าว เปิดการรับสมัครอย่างเป็นทางการ และเชิญผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งที่ลงทะเบียนไว้ก่อนเวลา 08.30 น. มาทำความตกลงกันว่าใครจะลงสมัครก่อนหลัง และตกลงใช้วิธีจับสลาก 2 ครั้ง ซึ่งมีผู้ที่ลงทะเบียนไว้ร่วมจับสลาก จำนวน 16 ราย

โดยการจับสลาก ครั้งที่ 1 ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเป็นผู้จับสลากเพื่อให้ ทราบว่าผู้ลงทะเบียนไว้คนใดจะเป็นผู้มีสิทธิจับสลากก่อนหลัง ส่วนการจับสลากครั้งที่ 2 ได้ให้ผู้ที่ลงทะเบียนไว้ตามลำดับที่จับสลากได้ในครั้งแรกเป็นผู้จับสลาก ด้วยตนเอง ซึ่งผลการจับสลากครั้งที่ 2 คือ ลำดับในการยื่นใบสมัครและใช้เป็นหมายเลขประจำตัวผู้สมัครต่อไป ปรากฏว่ามีผู้สมัครจับได้หมายเลข ดังนี้

หมายเลข 1 นายวิละ อุดม หมายเลข 2 นายวรัญชัย โชคชนะ หมายเลข 3 ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ หมายเลข 4 นายโสภณ พรโชคชัย หมายเลข 5 นายสมิตร สมิตธินันท์ หมายเลข 6 นายสัณหพจ สุขศรีเมือง หมายเลข 7 นายณัฏฐ์ดนัย ภูเบศอรรถวิชญ์ หมายเลข 8 นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล หมายเลข 9 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ หมายเลข 10 นายโฆสิต สุวินิจจิต หมายเลข 11 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หมายเลข 12 นางสาวจงจิตร์ หิรัญลาภ หมายเลข 13 นายวศิน ภิรมย์ หมายเลข 14 นายประทีป วัชรโชคเกษม หมายเลข 15 นายจำรัส อินทุมาร หมายเลข 16 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากนั้นในภายหลังการจับสลากหมายเลขมีผู้สมัครมายื่นใบสมัครเพิ่มอีก 2 ราย ได้แก่ หมายเลข 17 นายสุหฤท สยามวาลา หมายเลข 18 นางนันท์นภัส โกไศยกานนท์

ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (กกต.ทถ.กทม.) จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังจากปิดรับสมัครแล้ว 1 สัปดาห์

กำหนดวงเงินหาเสียงไม่เกินคนละ 49 ล้านบาท

คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ จำนวน 49 ล้านบาท โดยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งที่แล้ว เมื่อวันที่ 11 ม.ค.52 กำหนดไว้จำนวน 39 ล้านบาท

ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เมื่อวันที่ 11 ม.ค.52 ผลการนับคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. เรียงลำดับ 3 อันดับแรก ได้แก่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หมายเลข 2 จากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนน 934,602 คะแนน นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หมายเลข 10 จากพรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนน 611,669 คะแนน และม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หมายเลข 8 ผู้สมัครอิสระ ได้รับคะแนน 334,846 คะแนน โดยมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 4,150,103 คน มาใช้สิทธิ 2,120,721 คน คิดเป็นร้อยละ 51.10 แบ่งเป็นบัตร ที่ลงคะแนน จำนวน 2,058,219 บัตร คิดเป็นร้อยละ 97.05 บัตรที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน 46,395 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.19 และบัตรเสีย 16,107 บัตร คิดเป็นร้อยละ 0.76  โดยเขตทวีวัฒนา มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 58.51 และเขตดุสิต มีผู้มาใช้สิทธิน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 45.94.

...