“ช่างภาพเนชั่น” หวิดดับกลางสภา เหตุรถ รพ.พระมงกุฎฯ ไม่ขยับ อ้าง กลัวเกิดเหตุซ้ำซ้อนในสภา ต้องรอรถมาสลับประจำการก่อน ด้าน “ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจงไม่มีนโยบายกั๊กรถพยาบาล...

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่บริเวณห้องโถงอาคาร 1 รัฐสภา ในระหว่างที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวเตรียมความพร้อมจัดงานวันเด็กแห่งชาติปี 2556 ในวันเสาร์ที่ 12 ม.ค.56 ซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้สื่อข่าวและช่างภาพไปรอทำข่าวเป็นจำนวนมาก

ระหว่างการแถลงข่าว ปรากฏว่านายสกล สนธิรัตน์ ช่างภาพเครือเนชั่น ซึ่งอยู่ในที่แถลงข่าวเกิดเป็นลม ล้มฟุบ กลุ่มเพื่อนผู้สื่อข่าวและช่างภาพต้องเข้าช่วยพยุงและประคองตัวมานั่งพัก ขณะเวลาผ่านไประยะหนึ่งอาการนายสกลยังไม่ดีขึ้น กระทั่งนายสกลได้บอกกับเพื่อนร่วมงานที่นั่งอยู่ใกล้กันว่า “พี่ๆ ผมไม่ไหวแล้ว ช่วยพาไปโรงพยาบาลหน่อย” โดยสภาพร่างกายนายสกลขณะนั้นมีอาการทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด หน้าตาซีดเซียว ปากซีด จนเพื่อนร่วมงานหลายคนที่เห็นอาการต่างตกใจ โดยกลุ่มเพื่อนทราบดีกว่า นายสกลมีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว จึงรีบวิ่งไปตามเจ้าหน้าที่พยาบาลโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ซึ่งอยู่ประจำห้องพยาบาลสภาฯ มาดูอาการ โดยระหว่างนั้นนายสกลได้บอกกับเพื่อนร่วมงานตลอดว่า “ไม่ไหวแล้ว”

ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่พยาบาลมาถึง ปรากฏว่าได้เริ่มซักถามอาการ วัดความดันนานกว่า 10 นาที โดยช่วงแรกนายสกลยังสามารถพูดจาโต้ตอบได้ หลังถูกถามหนักเข้านายสกลกล่าวกับกลุ่มพยาบาลว่า “ผมไม่ไหวแล้ว” ทำให้เพื่อนช่างภาพหลายคนที่อยู่คอยดูอาการสอบถามกลับไปยังกลุ่มพยาบาลว่า ทำไมถึงไม่นำรถพยาบาลของโรงพยาบาลพระมงกุฎที่เตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลาที่รัฐสภามารับตัวนายสกลไปส่งโรงพยาบาล เนื่องจากเห็นกันอาการตรงหน้าอยู่แล้วว่านายสกลทรุดหนักลงเรื่อยๆ ประกอบกับนายสกลได้บอกอยู่ตลอดว่า “ไม่ไหวแล้ว” ซึ่งได้รับการชี้แจงกลับว่า “มันเคยมีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นไปส่งคนไข้ แต่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในสภาฯ ซ้อนขึ้นมา หากนำรถออกไปกลัวผู้ใหญ่ต่อว่า ต้องรอให้รถอีกคันมาก่อน” ซึ่งคำชี้แจงดังกล่าวต่างสร้างความไม่พอใจให้แก่เพื่อนผู้สื่อข่าวและช่างภาพอย่างมาก

...

ต่อมาผู้ช่วยพยาบาลก็พยายามถามอาการนายสกลอีกว่า “เป็นอะไรมากหรือไม่ มีบัตรประกันสังคมโรงพยาบาลอะไร ดูแล้วยังไหว ยังคุยรู้เรื่อง ไม่น่าเป็นอะไร” อย่างไรก็ดีเมื่อมีแพทย์เดินทางมาถึงก็ยิ่งทำให้เพื่อนช่างภาพเริ่มร้อนใจ เพราะยังคงถามไถ่อาการตามเดิม บางคนถึงกลับตำหนิกลับไปว่า “ต้องให้ตายไปก่อนไง จึงจะเอารถออกไปส่งโรงพยาบาลได้ แม้ไม่ใช่ผู้ทรงเกียรติ แต่ก็เป็นคนมีชีวิตเหมือนกัน คุณมีจรรยาบรรณหรือเปล่า” จนกระทั่งรถกู้ชีพของศูนย์นเรนทรจากภายนอกมารับตัวนายสกลไปส่งที่โรงพยาบาลกลาง เนื่องจากผู้ป่วยมีบัตรประกันสังคมโรงพยาบาลดังกล่าวอยู่

ด้านนางนุฎฎ์ษีห์ ชัยสุวรรณ์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานสื่อมวลชนสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อทราบเรื่องจึงได้รีบประสานไปยังนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือถึงเรื่องดังกล่าว โดยประธานสภาฯ ยืนยันว่า สภาฯ ไม่มีนโยบายที่ว่าไม่ให้รถพยาบาลออกไปจากรัฐสภา ซึ่งสามารถนำรถออกไปได้ และให้รถพยาบาลคันใหม่เข้ามาแทน และเนื่องจากกรณีนี้ต่อไปหากเกิดเหตุฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็นใครในสภาฯ ก็สามารถใช้รถพยาบาลได้ทันที ทั้งนี้ประธานสภาฯ เมื่อทราบเรื่องก็ตกใจและเป็นห่วงอย่างมากพร้อมกับมอบหมายให้คณะทำงานนำกระเช้าไปเยี่ยมอาการทันที

ขณะที่นายฉลาด จันทร์เดช ประธานชมรมช่างภาพการเมืองซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ตลอด กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นก็เห็นว่าไม่มีความรวดเร็ว มัวแต่จะมาวินิจฉัย วิเคราะห์กันมันไม่ถูกต้อง ก็เห็นกันอยู่ว่าผู้ป่วยมีอาการทรุดลงตลอดเวลา ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่นำส่งโรงพยาบาล โดยในฐานะเพื่อนร่วมงานจึงทนไม่ได้ แม้ไม่ใช่ผู้ทรงเกียรติ ไม่ได้เป็นนักการเมือง ต่อไปอยากให้สภาฯ จัดทีมแพทย์ลักษณะเคลื่อนที่เร็ว ไม่ว่าใครเกิดเจ็บป่วยจะหนักหรือเบา ก็ขอให้นำผู้ป่วยส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้รวดเร็วฉับไวกว่านี้ จะมัวแต่บริการ ส.ส., ส.ว.อย่างเดียวก็คงไม่ได้ จะปล่อยให้คนนอนรอความตายอย่างนั้นหรือ ต้องให้ความสำคัญซึ่งกันและกัน คนก็ต้องมองให้เป็นคนเหมือนกัน"

ด้าน นพ.สามารถ ตันอริยกุล ผอ.สำนักงานแพทย์ กทม. กล่าวถึงอาการเบื้องต้นนายของสกลว่า จากการสแกนเบื้องต้นพบว่าผู้ป่วยมีเลือดออกบริเวณแกนสมอง แต่ยังอยู่ในส่วนที่ดี ยังไม่ถึงกับต้องผ่าตัด แต่ถึงอย่างไรก็ต้องให้แพทย์ดูอาการและวิเคราะห์อาการอย่างใกล้ชิด โดยนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องทบทวนวิธีคิดในการปฏิบัติงาน เพราะหน้าที่ของตัวเองคือการช่วยชีวิตคน ในการนำคนป่วยไปถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุดนั่นคือการกู้ชีพ และไม่สมควรจะเลือกว่าบุคคลนั้นจะเป็นเศรษฐี หรือยากจน เป็น ส.ส.หรือช่างภาพ เพราะกรณีที่เกิดขึ้นมีคนเจ็บเพียงคนเดียว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยว่าจะต้องเลือกนำส่งใครก่อน การที่ปฏิเสธทำหน้าที่ช่วยเหลือถือว่าขาดมนุษยธรรม หรือขาดจรรยาวิชาชีพ.