วงถกช่องว่าง รธน. นักวิชาการแนะแก้ ก.ม.สิทธิฯ ให้สอดคล้องสิทธิสัญญา ขณะที่ นักวิชาการกฎหมาย แนะตั้งองค์กรตรวจสอบศาลใช้อำนาจ ด้านกรรมการสิทธิฯ ปัญหาของรัฐธรรมนูญกับการออกกฎหมาย ยังไม่สอดคล้องกับเรื่องการชุมนุม....
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สถาบันพระปกเกล้า จัดงานสัมมนาลำดับที่ 4 เรื่อง “สิทธิเสรีภาพ : ช่องว่างระหว่างบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญกับความเป็นจริง” ภายใต้โครงการศึกษา“ รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย” โดย นายวิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาเรื่อง “สิทธิและเสรีภาพในสังคมไทยที่พึงปรารถนา” ตอนหนึ่งว่า กฎหมายที่ควรปรับปรุงเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับสิทธิสัญญา ต่างๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีเครือข่าย เช่น การยกเลิกตรวนขา รวมทั้งกฎหมายด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการกักตัวผู้ต้องหา กฎอัยการศึก พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งประเทศไทยยอมรับที่จะปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน หลังจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ แนะนำไทยในการปรับปรุงกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน 170 ข้อ แต่ไทยยอมปรับปรุง 134 ข้อ อาทิ พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และปรับปรุงการแก้กฎหมายนิยามการทรมาน เท่านั้น
จากนั้นเป็นการ อภิปราย เรื่อง “สิทธิและเสรีภาพ : ช่องว่างระหว่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและความเป็นจริง” โดยนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากฝ่ายนิติบัญญัติที่ตรากฎหมายกระทบกับสิทธิและ เสรีภาพของประชาชน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการสันนิษฐานความผิด ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ต้องหากระทำความผิดไว้ก่อน ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ รวมทั้งการใช้อำนาจขององค์อิสระ ที่มีอำนาจวินิจฉัยคดี เช่น ป.ป.ช. ที่ทำให้มีปัญหากรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจรักษาความสงบเกินกว่าเหตุ แม้จะตั้งใจรักษาความสงบให้เกิดขึ้น แต่มีการชั่งผลประโยชน์ที่ได้รับผิดพลาดไป ถือเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ เข้าข่ายเป็นความผิด ทำให้ต้องมีการถกเถียงต่อไปว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงหรือ ไม่ โดยเฉพาะการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องการชุมนุมทางการเมือง ส่วนศาลยุติธรรมและศาลปกครองนั้นจะต้องมีหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบการใช้อำนาจ ของทั้ง 2 ศาลด้วยและควรต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
ขณะที่นางศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการปฏิรูปรูปกระบวนการยุติธรรมในแง่ประชาชน รู้สึกว่าการมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ อาจไม่ได้เป็นหลักประกันว่าประเทศนั้นเป็นประเทศที่มีสิทธิมนุษยชนแท้จริง เช่น กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพรายวัน มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ครอบครัวของผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากรัฐธรรมนูญ ดังนั้นที่ผ่านมาพันธกิจของรัฐบาลดูแลประชาชนได้หรือไม่ ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด รวมทั้งการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนได้เต็มที่และจริงจัง ซึ่งในความเป็นจริงนั้นภาครัฐไม่สามารถทำได้ ซึ่งตนมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นแค่ระเบียบที่ตั้งขึ้นมาเท่านั้น เพราะไม่ได้ตอบสนองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง
ด้านนาง อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ควรมีการจัดกฎกติกาให้ครอบคลุมมากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมามีความคลุมเครือมาก ปัญหาของรัฐธรรมนูญกับสภาพความเป็นจริง รวมถึงความคิดเห็นของประชาชนยังคงมีความเห็นที่ต่างกันอยู่ในเรื่องของการ ชุมนุม และยังมีคำถามอีกว่า ภาครัฐจะต้องออกมาทำการควบคุมหรือจะออกมาสนับสนุนกันแน่ ทั้งนี้ ปัญหาของรัฐธรรมนูญกับการออกกฎหมาย ยังไม่สอดคล้องกับเรื่องการชุมนุม.
...