พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เผยได้รับมอบหมายดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับประชามติและติดตามการดำเนินงาน รับหนักใจ 23 ล้านเสียงจำเป็นต้องมีการรณรงค์ทำความเข้าใจ ด้านนายวราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ยันประชามติเป็นทางออกของสังคม แนะปชช.ควรออกมาใช้สิทธิว่าเห็นด้วยหรือไม่....

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม และนายวราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในคณะทำงานศึกษาแนวทางการทำประชามติ ได้ออกมาชี้แจงถึงการดำเนินการหาทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลในขณะนี้ โดยพล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ต้องบอกว่าสืบเนื่องมาจากการเรื่องการประชุมครม.ครั้งที่ผ่านมา ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ได้มีการหยิบยกมาหารือโดยมีข้อยุติว่าควรรับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นหลัก เลยจะทำประชามติ และมอบให้ตนไปศึกษาหารือแนวทางและเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาประชุมกับครม.อีกครั้ง หลังจากที่ได้รับมอบหมายงานก็ไปคุยกับหลายฝ่ายแล้วว่าน่าจะมีการทำประชามติ จึงได้นำส่วนการดำเนินงานอีกครั้ง ซึ่งได้มีการดำเนินการแล้วบ้าง เช่น รับทราบความเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าของการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย และของนายวราเทพ โดยมติที่ว่าเนื่องจากการดำเนินงานในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ซับซ้อน มีการเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานให้ดำเนินการศึกษาเรื่องการทำประชามติไปศึกษาว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องขอบกำหนดเวลาก็มีคร่าวๆ แล้วประมาณ 3-4 สัปดาห์น่าจะได้ข้อสรุป

พล.ต.อ.ประชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการคาดการณ์เรื่อง 23 ล้านเสียงนั้นต้องยอมรับว่ามีความเป็นห่วง ซึ่งเราก็จะดำเนินการให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องของรัฐธรรมนูญนั้นมีความสำคัญ ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น การประชาพิจารณ์เสวนาก็ต้องทำควบคู่เพราะเป็นเรื่องมีประโยชน์ ประชามติจะเป็นการสะท้อนความเห็นในภาพรวมของสังคม ตรงนี้ต้องหันมารับฟังความเห็นเป็นสำคัญ ช่วงเวลาต่อจากนี้จะเป็นเรื่องที่ต้องคอยดูว่าจะเป็นอย่างไร

ด้านนาย วราเทพ กล่าวว่า การทำประชามตินั้นเป็นทางออกที่อธิบายกับประชาชนได้ ประกอบกับมีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และศาลรัฐธรรมนูญได้มีข้อวินิจฉัยแนะนำในเรื่องการให้ไปสอบถามประชาชนเสียก่อน เลยเป็นที่มาให้ประชาชนสะท้อนความคิดเห็น โดยมีเรื่องการทำประชาพิจารณ์มาบ้างแล้ว แต่การทำอย่างนั้นไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าฝ่ายที่เป็นด้วยหรือไม่มีจำนวนเท่าใด มีแต่การใช้แนวทางประชามติที่จะวัดได้ชัดเจน ท้ายที่สุดการออกเสียงประชามติจะสามารถอธิบายด้วยเหตุผลได้ และหลังจากได้ข้อสรุปแล้วจะเป็นที่ยุติทุกฝ่าย จะเป็นการลดขัดแย้งของสังคม เหตุที่ครม.ไม่ได้เห็นชอบในทันทีเพราะมีข้อกำหนดหลายอย่างเพราะมีหลายขั้นตอน เรื่องที่คณะกรรมการไปดำเนินการนั้นมีขั้นตอนมากมายและใมนเรื่องบกฎหมายค่อนข้างมีความรัดกุม ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการต้องพิจารณาอยู่ ขั้นตอนนี้ไม่ได้คิดว่าใช้เวลานานเพราะเราต้องรอบคอบดีกว่า เพื่อที่จะให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้สะท้อนความคิดเห็นก็จะได้รับฟังแล้วนำมาแก้ไขได้อีกด้วย

นายวราเทพ กล่าวต่อไปว่า การที่หลายฝ่ายสงสัยว่าเรื่องการถามของการทำประชามตินั้นจะเป็นอย่างไร ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นในรายละเอียดจะต้องรอ ส.ส.ร. คงจะถามว่าควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนเรื่องจำนวนคนที่มาใช้สิทธินั้นเป็นเรื่องที่อยากพอสมควร อีกทั้งยังมีคนที่ค้านด้วย แต่อย่างไรก็จะไม่แก้กฎหมายเดิม เพราะจะทำให้เกิดการเป็นอุปสรรคในการแก้ และท่าทีของฝ่ายค้านครั้งแรกตนก็แปลกใจว่าทำไมพรรคฝ่ายค้านมีการค้านเร็วไปกว่าที่คาดการณ์เพราะยังไม่เห็นหัวข้อเรื่องที่ยังไม่ได้ทำแต่ค้านแล้วก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ควรจะมีการรณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิจะดีกว่า แต่เรื่องเห็นด้วยหรือไม่นั้นก็ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจว่าเห็นด้วยหรือไม่ ดีกว่างดออกเสียงแล้วอยู่ที่บ้าน

“ทุกวันนี้ทุกฝ่ายอึดอัดกับปัญหาที่เกิดขึ้น ประเด็นหนึ่งคือเรื่องรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร การที่ประชาชนมีการมาออกเสียงประชามติในครั้งนี้จะเป็นที่ยอมรับ ยังมีหลายคนที่เสียงเงียบจำนวนมากที่ยังรอให้สองฝ่ายได้คุยกัน ผมเชื่อมั่นว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้” รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว.

...