เป็นอันแน่ชัดแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเดินหน้าต่อไป เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าจะหารือและขอมติคณะรัฐมนตรี เพื่อขอเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อชำระล้างร่องรอยและบาดแผลของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหารัฐธรรมนูญ แต่ผลจะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและวัฒนธรรมทางการเมืองของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมากกว่า
วันเดียวกัน ประธานคณะกรรมการประสานงานรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล จากพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จะมีการประชุมรัฐสภาเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อรับฟังความ คิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา เกี่ยวกับรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะขอให้ทุกพรรคร่วมรัฐบาลร่วมเสนอญัตติขอแก้ไขในประเด็นที่เห็นพ้องกัน แต่จะให้ลงประชามติในประเด็นที่ไม่เห็นพ้อง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มขยับตัวอีกครั้ง หลังจากที่ ส.ว.บางคน ล่ารายชื่อ ส.ว. และ ส.ส. เพื่อเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ประเด็น มาจากคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ 6 ประเด็น เพิ่มเข้าไปอีก 1 ประเด็น แต่ต่อมามี ส.ว.บางคนขอถอนชื่อ โดยอ้างว่า ในญัตติมีการสอดไส้ให้ขยายอายุ ส.ว.สรรหา รวมทั้งให้ ส.ว.ที่พ้นจากตำแหน่งมีสิทธิ์สมัคร ส.ส. และเป็นรัฐมนตรีได้ทันที
อาจจะเป็นเพราะว่ามีคนบางกลุ่มกล่าวอ้างมาโดยตลอดว่า รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นบาปหนักถึงขั้น "อนันตริยกรรม" ทางการเมือง ทำลายกระบวนการยุติธรรมและประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง โดยมีรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นเครื่องมือสำคัญ นายกฯอภิสิทธิ์จึงอยากชำระล้างร่องรอยและบาดแผลของการยึดอำนาจคราวนั้นด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550
แต่รัฐประหาร 2549 และรัฐ-ธรรมนูญ 2550 เป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมือง และเป็นตัวทำลายประชาธิปไตยจริงหรือ? เพราะความขัดแย้งได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ก่อนรัฐประหาร 2549 และความขัดแย้งนั่นเองที่เป็นสาเหตุหนึ่งของรัฐประหาร ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีบทบัญญัติส่วนใหญ่ เหมือนกับฉบับ 2540 ที่ต่างกันมากก็มีแต่เพียงเรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการพรรคที่ถูกยุบ
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมี การยึดอำนาจหรือปฏิวัติรัฐประหารไม่น้อยกว่า 18 ครั้ง รัฐธรรมนูญบางฉบับมีบทบัญญัติห้ามใช้กำลังทหารเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เช่น การยึดอำนาจมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ระบุว่า ประชาชนมีสิทธิ์ต่อต้านการยึด อำนาจ "โดยสันติวิธี" แต่ไม่เห็นมีใครออกมา ต่อต้านรัฐประหาร 2549 การต่อต้านเย้วๆ ขณะนี้ ล้วนแต่ทำเมื่อคณะรัฐประหารหมดอำนาจ
นักวิชาการของไทย ไม่ว่าจะเป็นนักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ เมื่อมีปัญหาการเมืองมักจะนึกถึงการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่ารัฐธรรมนูญ เป็นยาวิเศษ แก้ไขสารพัดโรคการเมือง แต่จากคำกล่าวที่ว่า "สุดท้ายอยู่ที่พฤติกรรมและวัฒนธรรมทางการเมืองของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย" แสดงว่า นายกฯอภิสิทธิ์อาจจะเริ่มมี "ดวงตา เห็นธรรม" ในการเมืองของไทย.
...