กมธ.ต่างประเทศ วุฒิฯ ค้านรัฐ รับเขตอำนาจศาลโลก ห่วงถูกละเมิดอำนาจ แก้ ป.อาญา ม.112 จี้ เอาเข้าถกในสภาฯ ขู่ หากไม่สนยื่นศาล รธน.

วันที่ 28 พ.ย.ที่รัฐสภา นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.พิษณุโลก ในฐานะประคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา แถลงข่าวว่า กรรมาธิการฯ ได้พิจารณาเรื่องการประกาศเขตรับรองอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ที่กระทรวงการต่างประเทศ จะพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (29 พ.ย.) โดยมีความกังวล ว่า  1. การประกาศรับอำนาจไอซีซี โดยเฉพาะบางคดี แม้รัฐบาลไทย จะประกาศฝ่ายเดียว ก็ย่อมเป็นการก่อพันธะผูกพันประเทศไทย ที่จะให้ศาลมีอำนาจดำเนินคดี 4 ประเภท 2. ขณะนี้ มีกฎหมายภายในประเทศไทย รับรองการปฏิบัติตามพันธกรณี ในการประกาศรับ อำนาจไอซีซี

3. หากประกาศรับอำนาจไอซีซีจะต้องตรากฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม ภายในประเทศก่อน ซึ่งจะต้องให้รัฐบาลให้ความเห็นชอบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ในประกาศรับอำนาจไอซีซีก่อน ไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถปฏิบัติตามพันธะในกรณีรับอำนาจไอซีซี 4. การประกาศรับอำนาจไอซีซีฝ่ายเดียว โดยรมว.การต่างประเทศ ย่อมมีผลก่อให้เกิดพันธสัญญาระหว่างประเทศ  5. ประเทศไทยได้ลงนามธรรมนูญไอซีซี เมื่อปี 2543 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันผูกพัน เพราะข้อ 27 ของไอซีซี หากรับอำนาจไอซีซี จะมีเขตอำนาจพิจารณาคดี ลงโทษแม้กระทั่งประมุขของรัฐ โดยไม่มีข้อยกเว้น และ  6. การยอมรับอำนาจไอซีซี แสดงให้เห็นว่า กระบวนกรยุติธรรมของไทย ไม่เป็นที่ยอมรับโดยรัฐบาลไทย ทั้งที่ศาลไทยมีเขตอำนาจ ย่อมมีผลสะท้อน ต่อการยอมรับอำนาจศาลไทยโดยต่างประเทศ 

“กรรมาธิการฯ ต่างประเทศมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรมของประเทศ และอาจจะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง แทนที่จะเสริมสร้างบรรยากาศปรองดองของ คนในชาติ” นางพิกุลแก้ว กล่าว

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ตนก็จะยื่นเรื่องนี้ ต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ และเชื่อว่า การรับรองเขตอำนาจไอซีซี ไทยก็ไม่ได้ประโยชน์ โดยเพาะกรณี นพ.เหวง โตจิรากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ไปยื่นเรื่องการสลายชุมนุมของ นปช.ปี 2553 ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ เขตอำนาจไอซีซี

ขณะที่ นางพรพรรณ บุญยรัตน์พันธุ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า หากไทยรับเขตอำนาจไอซีซี จะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และอาจจะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย.

...