นายบวรศักดิ์ อุวรรณโน
แนะนายกรัฐมนตรี สั่งยุติเรื่องตามบทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกา ต้องตัดไฟแต่ต้นลมระงับฎีกาที่มิชอบ เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองลุกลามจนเป็นพยันตรายต่อสถาบันหลักของชาติ....
วันนี้(3 ก.ย.)เวลา 13.00 น.ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสธ.ทบ. ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นประธานฟังการสรุปผลการปฏิบัติโครงการกู้วิกฤติเศรษฐกิจด้วยปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง โดยมีนายทหารระดับผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกและนายทหารระดับผู้บังคับกองพันทั่วประเทศ เข้าร่วมฟังด้วย ในโครงการที่รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณ 1,200 ล้านบาท ให้ดำเนินโครงการฯ ทั้งนี้ยังมีการบรรยายพิเศษโดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล บรรยายเรื่องโบราณราชนิติประเพณี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโน บรรยายเรื่องกฎหมายและขั้นตอนการถวายฎีกาให้ผู้บังคับหน่วยทราบข้อเท็จจริง เพื่อนำไปทำความเข้าใจกับประชาชน
หลังจากนั้นเวลา 16.00 น.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ได้มอบนโยบายและแผนการดำเนินการของโครงการฯให้ผู้บังคับหน่วยขึ้นตรง ทราบถึงสภาพปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโดยเน้นในเรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะเรื่องการถวายฎีกาที่มีประชาชนไม่เข้าใจ พวกเราต้องร่วมกันปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนที่ยังไม่เข้าใจและถูกชักนำในการต่อต้าน ทั้งนี้กำลังพลที่ลงไปทำงานแบบไม่มีสี ทหารต้องไม่เลือกสี และประชาชนไม่ว่าจะเป็นสีใดก็ตามทุกคนล้วนเป็นคนไทย เป็นพสกนิกรของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราเป็นทหารของชาติ
ด้านนายบวรศักดิ์ กล่าวบรรยายตอนหนึ่งถึงการถวายฎีกาว่า ต้องเป็นไปตามนิติราชประเพณีที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 ถึง 267 พระธรรมนูญศาลยฺติธรรม มาตรา 23 วรรค 2 พระราชกฤษฎีการะเบียบฯ ถวายฎีกา พ.ศ 2457 ส่วนฎีกาล้านชื่อที่ประชาชนร่วมลงชื่อนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะต้องยื่นโดย พ.ต.ท.ทักษิณ บิดา มารดา คู่สมรส บุตร หรือ ญาติพี่น้อง และการที่ฎีกาต้องมิใช่การโต้แย้งคำพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งถือว่าต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรค 2 และพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าถวายฎีกา พ.ศ. 2457 รวมทั้งการยื่นฎีกาต่อสำนักราชเลขานั้นไม่ถูกต้อง ตามขั้นตอนของกฎหมาย
“เรื่องนี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เพราะมีหน้าที่ถวายคำแนะนำแด่พระมหากษัตริย์ แม้การพระราชทานอภัยโทษในมาตรา 191 ซึ่งบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจทุกชนิด ซึ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น พระราชทานอภัยโทษ หรือแก้ไขทุกข์ของราษฎร ที่ต้องให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐปฏิบัติ พระมหากษัตริย์ต้องทรงใช้อำนาจอธิปไตย โดยผ่านทาง ครม. ซึ่งต้องรับผิดชอบทางการเมือง และ รธน.มาตรา 195 กำหนดไว้ว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการ เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมี รมต.ลงนามรับสนองพระราชโองการ ดังนั้น นายกฯ หรือ รองนายกฯ ที่รับมอบหมายจึงต้องเป็นผู้กลั่นกรอง เรื่องฎีกาทุกชนิดที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ หรือฎีการ้องทุกข์ รวมถึงกราบบังคมทูล ถวายคำแนะนำ และนำพระราชวินิจฉัยมาปฏิบัติ และรับผิดชอบทางการเมือง และกฎหมายแทนพระมหากษัตริย์” นายบวรศักดิ์ กล่าว
นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องยึดหลักในพระราชกฎษฎีกา วางระเบียบการทูลเกล้าถวายฎีกา คือ นายกฯในฐานะบังคับบัญชาสำนักราชเลขาธิการ ต้องสั่งการให้ยุติเรื่องตามบทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกา ต้องตัดไฟแต่ต้นลมระงับฎีกาที่มิชอบด้วยกฎหมายนี้ ไม่ให้ทูลเกล้าฯ ถวายไปถึงองค์พระประมุข เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งทางการเมืองลุกลามจนเป็นพยันตรายต่อสถาบันหลักของชาติ นอกจากนี้ ฎีกาโกลาหลจะระงับลงด้วยวิธีการทางการเมือง 2 ทาง คือ อดีตนายกรัฐมนตรี ขอร้องให้แกนนำยุติการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย นิติประเพณี และระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการหักล้างคำกล่าวหาที่ว่า ไม่จงรักภักดี เป็นการดำเนินการโดยการกระทำ
...