“นายชวน หลีกภัย” กรีด นายกรัฐมนตรี บอกจะใช้สภาแก้ปัญหาแต่ทำไมไม่เคยเข้าร่วมประชุมสภา อ้าง เกินครึ่งสภาฯ ได้มาเพราะระบบเงิน...
วันที่ 16 พ.ย. 55 เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา จัดงานเสวนา เรื่อง “มาตรฐานจริยธรรมของนักการเมือง” โดยนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า มาตรฐานทางจริยธรรม มีแค่สิ่งใดควรทำไม่ควรทำ ที่ผ่านมา ตนได้พูดคุยกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญว่า เมื่อตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเสร็จและพบว่ามีหลักฐานแล้วก็ต้องส่งต่อให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่าส่งกลับมายังสภาฯ เพราะจะเป็นการตรวจสอบลูบหน้าปะจมูก เพราะนักการเมืองจะต้องถูกลงโทษ และเข้าสู่กระบวนการถอดถอน
ทั้งนี้แม้จะสร้างมาตรฐานจริยธรรมที่สูง แต่หากไม่ปฏิบัติตาม ก็เป็นเรื่องยาก และจริยธรรมต้องเกิดขึ้นโดยเนื้อแท้แห่งตน ซึ่งตนขอเสนอว่ามาตรฐานจริยธรรม ควรเป็นมาตรฐานเดียวของนักการเมือง โดยอยากให้นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นแม่งานในการยกร่างมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมือง เพื่อใช้บังคับกับ ส.ส. ส.ว.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเมื่อยกร่างเสร็จแล้วก็นำเข้าสู่การพิจารณาของสภา 3 วาระ ก่อนที่จะบังคับใช้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ตนเชื่อว่าจะมีความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวต้องช่วยกันทุกภาคส่วน
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “หลักการประพฤติตนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ว่า ที่ผ่านมา ตนไม่กล้าพูดเรื่องจริยธรรม เพราะกลัวจะถูกต่อว่า ว่าพูดเรื่องตัวเองและเตือนเพื่อน แต่จะทำได้เพียงแนะนำ ส.ส.ใหม่ เรื่องการขึ้นรถไฟหรือเครื่องบินว่า ถ้าจองที่นั่งไว้แล้วหากไปไม่ทันก็ให้แจ้งยกเลิก ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหาย เพราะผู้แทนราษฎรไม่ต้องเสียเงิน แต่เสียเงินจากภาษีประชาชน ซึ่งเรื่องจริยธรรมไม่ได้สอนว่า ต้องประพฤติตัวกันอย่างไร เพราะเป็นผู้แทนมีวุฒิภาวะแล้ว แต่ก็มีพฤติกรรมส่วนตัวที่แต่ละคนจะเป็นอย่างไร
โดยบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมืองในแวดวงการเมือง มีทั้งคนดีและไม่ดี แต่ไม่สามารถมีมาตรการลงโทษผู้กระทำหรือผู้ปฏิบัติงานนั้น เหมือนข้าราชการประจำได้ จึงมีความคิดการปฏิรูปการเมือง ในรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นที่มาของกฎเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้น แต่ช่วงที่ผ่านมา มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือ พฤติกรรมการโกหก ไม่ใช่ว่าคนรุ่นก่อนจะไม่โกหก แต่ก็ไม่เคยพบว่ามีพฤติกรรมพูดดำเป็นขาว พูดขาวเป็นดำ และจะมาจากการเข้าใจผิด แต่ไม่มีพฤติกรรมลบล้างความผิดให้ผู้อื่น ซึ่งพฤติกรรมนี้ มองว่าเป็นพฤติกรรมที่ได้จากผลประโยชน์ เพื่อการแลกเปลี่ยนหรือสร้างคะแนน หรือเพื่อแสดงบทบาทให้ตัวเอง คนเหล่านี้เหมือนมือปืนรับประโยชน์มา
นายชวน กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องคุณสมบัติส่วนตัวแล้ว ยังมีเรื่องความเกรงใจก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้กระทำ ไม่ได้มีพฤติกรรมชั่วร้าย แต่ต้องทำด้วยความเกรงใจจนขัดหลักจริยธรรม และนอกจากข้อย่อยของกฎหมายแล้วนักการเมือง ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมายใหญ่และการแก้ไขปัญหาต้องให้ทุกคนยึดหลักเดียวกัน ก็จะสามารถบริหารงานไปได้โดยไม่สร้างปัญหาใหม่ โดยเฉพาะการบริหารโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ไม่ใช่ทำอะไรนอกหลักธรรมาภิบาล เพียงแต่ต้องการทำงานให้รวดเร็ว ไม่ใช้ความโลภ ความใจร้อน มาแก้ไขปัญหาเพียงต้องการให้ทำงานได้รวดเร็ว เช่น ฆ่าทิ้ง ยิงทิ้ง จนกลายเป็นปัญหาความไม่สงบจนถึงทุกวันนี้
ปัญหาตามมาไม่จบสิ้น ซึ่งปัญหาประชาธิปไตยตอนนี้ อยู่ที่ภาคปฏิบัติ ที่ต่างคนต่างบอกว่าจะยึดหลักประชาธิปไตย ภายใต้หลักความถูกต้อง หลักนิติรัฐ นิติธรรมและต้องให้ความสำคัญกับรัฐสภา แต่ทางปฏิบัติกลับไม่ดำเนินการเช่นนั้น เช่น การบอกว่าอยากใช้สภา เป็นเครื่องมือแก้ปัญหา แต่สุดท้ายก็ไม่พยายามทำจริง ซึ่งตนยังห้าม นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ว่าอย่าเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภา เพราะเชื่อว่านายกฯ โตแล้ว รู้ว่าต้องทำหน้าที่อย่างไร
ทั้งนี้ 40 ปีที่ผ่านมา หลายอย่างเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะประชาธิปไตย และไม่อายที่จะบอกว่าในสภาเกินครึ่งหนึ่ง มาจากระบบการเงิน ทั้งที่บางคนบอกรักประชาธิปไตย แต่ก็มีการใช้เงิน ซึ่งการรักษาประชาธิปไตยต้องไม่ซื้อเสียงและต้องเคารพบ้านเมือง เรื่องที่ไม่ดีก็ต้องแก้ไขได้และกฎหมายว่าอย่างไรก็ต้องว่าไปอย่างนั้น
...