ศาลปกครอง รับ คดีถอดยศ ''มาร์ค'' ฟ้องเอาผิด รมว.กลาโหม สั่งถอดยศ ไว้ในสารบบความ จ่อ พิจารณารับฟ้องหรือไม่ ทนาย ปชป.มั่นใจ "อภิสิทธิ์" ยังทำหน้าที่ซักฟอกได้ เตรียมส่งเรื่องเข้า ป.ป.ช.เอาผิด

วันที่ 12 พ.ย. ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 12 พ.ย.55 เวลา 11.10 น. นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความ รับมอบอำนาจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้อง พ.ล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เป็นผู้ถูกฟ้อง เรื่องกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่มีคำสั่งกลาโหมลงวันที่ 8 พ.ย.55 ปลดนายอภิสิทธิ์ ออกจากราชการเป็นทหารกองหนุน รับเบี้ยหวัดบำนาญสังกัด บก.จทบ.ก.ท.  

โดยคำฟ้องระบุว่า เมื่อปี 2542 ขณะผู้ฟ้องเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีสมาชิกพรรคความหวังใหม่ในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ร้องเรียนกระทรวงกลาโหมว่าผู้ฟ้องไม่ได้เข้ารับราชการในการเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อย จปร. เมื่อปี 2531 ตามกฎหมาย ต่อมากระทรวงกลาโหมจึงมีคำสั่งตั้งจเรทหารบก เป็นกรรมการสอบสวนกรณีที่ผู้ฟ้องเข้ารับราชการตำแหน่ง รรก.อจ.ส่วนการศึกษา จปร.ซึ่ง พ.ล.อ.อ.พะเนียง กานตรัตน์ รมว.กลาโหม เมื่อปี 2530 มีคำสั่งบรรจุผู้ฟ้องเข้าเป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตรเมื่อวัน ที่ 7 ส.ค.30 ซึ่งหลังจากรับการบรรจุและเมื่อผู้ฟ้องทำการฝึกเป็นทหารตามระเบียบที่กลาโหมกำหนดไว้ ก็ได้รับพระราชทานยศร้อยตรี (ร.ต.) ในเวลาต่อมา แต่ผู้ฟ้องลาออกเมื่อปี 2532 เพื่อลงสมัคร ส.ส.สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และในปี 2535 ผู้ฟ้องได้เป็น ส.ส.มาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในการสอบสวนกรณีของผู้ฟ้องดังกล่าวเมื่อปี 2542 กรรมการชุดนั้น สรุปความเห็นว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบางนายกระทำผิด และเสนอต่อผู้บังคับบัญชาลงโทษ ซึ่งรายงานนั้นไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้อง และไม่มีอำนาจที่จะใช้วินัยทหารมาบังคับกับผู้ฟ้องได้ เนื่องจากผู้ฟ้องได้พ้นจากการเป็นนายทหารประจำการซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการทหารตั้งแต่ปี 2532 ประกอบกับการสอบสวนนั้นเป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารกองประจำการ ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าขณะนั้นมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ทหารที่อ้างว่ากระทำผิดแต่อย่างใด กระทั่งปี 2551 เมื่อผู้ฟ้องได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี

...

หลังจากนั้น สมาชิกพรรคเพื่อไทยก็ได้ร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ดำเนินการถอดถอนชั้นยศของผู้ฟ้อง พร้อมให้คืนเบี้ยหวัดอีกโดยอ้างว่า ผู้ฟ้องไม่ได้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกิน (หนีเกณฑ์ทหาร) และใช้เอกสารเท็จสมัครรับราชการทหาร ซึ่งการร้องเรียนนั้นเพื่อต้องการให้ผู้ฟ้องขาดความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส.และให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งป.ป.ช.และกระทรวงกลาโหม ขณะนั้นเห็นว่าการร้องเรียนไม่เข้าหลักเกณฑ์เนื่องจากผู้ฟ้องไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา และไม่เคยมีคำพิพากษาว่าผู้ฟ้องกระทำผิดในเรื่องดังกล่าว

แต่หลังจากนั้นเมื่อ พล.อ.อ.สุกำพล ผู้ถูกฟ้อง มาเป็น รมว.กลาโหมในวันที่ 18 ม.ค.55 สมาชิกพรรคเพื่อไทยใช้โอกาสนี้ยื่นเรื่องให้มีการสอบสวนกรณีของผู้ฟ้องอีกครั้ง โดยผู้ถูกฟ้องตั้งกรรมการสอบสวนขึ้นมา และเร่งดำเนินการจัดทำรายงานว่า ผู้ฟ้องกระทำผิดตามข้อกล่าวหาโดยไม่เรียกผู้ฟ้องไปให้ถ้อยคำหรือแสดงพยานหลักฐาน จนกระทั่งนายจตุพร พรหมพันธุ์ นำมาใช้อ้างเป็นพยานต่อศาลอาญาในคดีที่ผู้ฟ้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท แต่คดีนั้นศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนายจตุพร 6 เดือน โดยให้รอลงอาญา 2 ปี และปรับ 5 หมื่นบาท ซึ่งช่วงเวลาที่ศาลอาญากำลังพิจารณาดังกล่าว กลับปรากฏว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้วางแผนร่วมรู้กับผู้ถูกฟ้อง ไปร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี รมว.กลาโหม ไม่พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนชั้นยศและเรียกคืนเบี้ยหวัดจากผู้ฟ้อง

ทั้งนี้การดำเนินนั้นเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องในฐานะ รมว.กลาโหมใช้เป็นข้ออ้างได้ว่า ผู้ถูกฟ้องไม่ได้มีอคติกับผู้ฟ้องที่จะดำเนินการสอบสวนแต่เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้ดำเนินการ แต่ต่อมาเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยให้ยุติเรื่อง เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมา รมว.กลาโหม ได้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว จึงให้กระทรวงกลาโหมแจ้งผู้ตรวจการแผ่นดินทราบด้วยหากมีการดำเนินการต่อไป

ต่อมาผู้ถูกฟ้องจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อดำเนินการ กรณีบรรจุผู้ฟ้องรับราชการ และการขึ้นทะเบียนกองประจำการ รวมทั้งการแต่งตั้งยศทหาร ซึ่งผู้ฟ้องเห็นว่าผู้ถูกฟ้องมีเจตนากลั่นแกล้ง โดยผู้ถูกฟ้องเคยประกาศต่อหน้า ส.ส.พรรคเพื่อไทย และต่อหน้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในการประชุม ส.ส.เพื่อไทย วันที่ 9 ต.ค.55 ว่า ภายในเดือน ต.ค.นี้ กระทรวงกลาโหม จะดำเนินการถอดยศ รวมถึงการเรียกเงินเบี้ยหวัดคืนจากผู้ฟ้อง ซึ่งมีข้อความลงใน นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 10 ต.ค.55

จากนั้นผู้ถูกฟ้องยังเคยประกาศย้ำต่อหน้าสื่อมวลชนด้วยในวันที่ 1 พ.ย.55 ขณะที่การสอบสวนดังกล่าวใช้ความเร่งรีบสรุปผลการสอบสวน ซึ่งคณะกรรมการมีหนังสือลงวันที่ 22 ต.ค.55 แจ้งผู้ฟ้องให้ปากคำวันที่ 30 ต.ค.และส่งเอกสารภายใน 6 พ.ย. ขณะที่ผู้ฟ้องส่งหนังสือแจ้งกลับคณะกรรมการพร้อมให้ความร่วมมือและขอให้มีการแจ้งประเด็นที่จะให้การและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาให้ผู้ฟ้องก่อน แต่ในวันที่ 6 พ.ย.คณะกรรมการมีหนังสือยืนยันให้ผู้ฟ้องให้ปากคำแต่ไม่ยอมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ผู้ฟ้องทราบตามที่ร้องขอ ซึ่งผู้ฟ้องได้แจ้งขอเลื่อนเข้าให้ปากคำแล้วเนื่องจากติดภารกิจไปต่างประเทศ ที่นัดหมายล่วงหน้านานแล้ว แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการไม่รอการให้ปากคำของผู้ฟ้องโดยปราศจากเหตุผล แล้วยังไปให้ข่าวสื่อมวลชนว่า ผู้ฟ้องไม่ไปให้การโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องจึงรีบสรุปสำนวนส่งผู้ถูกฟ้องพิจารณาสั่งในวันที่ 8 พ.ย. จากนั้นผู้ถูกฟ้องมีคำสั่งปลดผู้ฟ้องออกจากราชการเป็นทหารกองหนุนรับเบี้ยหวัดบำนาญสังกัด บก.จทบ.ก.ท.ในวันที่ 8 พ.ย.ดังกล่าว

โดยการสอบสวนกรณีนี้ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ประกอบกับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยให้ยุติเรื่องดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 28 (3) ซึ่งให้กระทรวงกลาโหมแจ้งผู้ตรวจการแผ่นดินทราบ หากมีการดำเนินการต่อไปนั้น กรณีไม่ใช่การกล่าวหาผู้ฟ้อง โดยผู้ถูกฟ้องมีหน้าที่เพียงรายงานให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบเท่านั้น คำสั่งผู้ถูกฟ้องนั้นจึงถือว่าขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 เพราะผู้ถูกฟ้องไม่มีอำนาจลงโทษผู้ฟ้องที่กล่าวหาว่า ผู้ฟ้องประพฤติมิชอบในวงราชการ กระทำผิดวินัยทหารอย่างร้ายแรงไม่สมควรอยู่ในราชการต่อไปนับจากวันกระทำผิด ซึ่งคณะกรรมการของกลาโหมพิจารณาแล้วว่ามีเหตุอันสมควรให้ลงโทษเพราะกระทำผิดวินัย เนื่องจากทหารที่อยู่ บังคับกฎหมายดังกล่าวต้องเป็นทหารกองประจำการ และทหารประจำการ ส่วนทหารกองเกินและทหารกองหนุนเป็นทหารที่ไม่ได้รับราชการทหารและไม่ได้อยู่ประจำหน่วยราชการ จึงไม่อยู่ในบังคับพ.ร.บ.ว่าด้วยวินัย ทหาร ฯ และการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องก็ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยมีคำวินิจฉัยเลขที่ 566/2553 เป็นแนวทางให้กระทรวงกลาโหมและทุกเหล่าทัพถือปฏิบัติแล้วว่า กระทรวงกลาโหมไม่มีอำนาจปลดนายทหารที่ออกประจำการไปแล้ว โดยผู้ฟ้องไม่ได้รับราชการและไม่ได้อยู่ประจำหน่วยทหารนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้ลาออกจนถึงปัจจุบันนานถึง 23 ปีเศษแล้ว การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องนั้น จงใจทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ฟ้องและไม่ต้องการให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเกิดขึ้น ผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งรมว.กลาโหม ลงวันที่ 8 พ.ย.55 โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ออกคำสั่ง ศาลรับคดีไว้ในสารบบความ หมายเลขดำ 2900/2555 เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งต่อไปว่าจะรับฟ้องเพื่อมีคำพิพากษาต่อไปหรือไม่

ขณะที่นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความของนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อฟ้องคดีแล้วทุกอย่างก็เข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล โดยระหว่างนี้ ถ้า ส.ส.เพื่อไทย จะมีการกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ ขาดสมาชิกสภาพ ส.ส. เพื่อจะให้ขึ้นอภิปรายไม่ไว้ใจวางใจ ในวันที่ 25 พ.ย.ที่กำลังจะถึงนั้น หากประธานสภาไปร่วมกับแผน ส.ส.เพื่อไทย แล้วหากวันหนึ่งศาลปกครอง มีคำวินิจฉัยออกมาว่า คำสั่งกลาโหมไม่ชอบ แล้วใครจะรับผิดชอบ ประธานสภาจะรับผิดชอบหรือไม่

ดังนั้น หากจะมีการยื่นอะไรก็ยื่นไป แต่ให้รอดูคำสั่งศาลปกครองต่อไป ตนจึงมั่นใจว่าเมื่อมีการอภิปรายนายอภิสิทธิ์ ยังได้ขึ้นอภิปรายในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ขณะที่ภายในสัปดาห์นี้ ตนจะยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ให้พิจารณาเอาผิดคณะกรรมการของกลาโหมเรื่องนี้ด้วย ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

โดยมั่นใจว่า การฟ้องนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครอง เพราะที่มีการอ้างว่าเป็นคำสั่งลงโทษวินัยทหารนั้น ก็ไม่ใช่เพราะนายอภิสิทธิ์พ้นจากการประจำการมาแล้ว อย่างไรก็ดีการฟ้องคดีนี้ยังไม่ได้ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว เพราะยังไม่มีเหตุที่ต้องขอ แต่ให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาของศาล