"รองนายกฯ สุรพงษ์" ออกรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน แจงความคืบหน้ากิจการด้านการต่างประเทศ ขณะกรณีปัญหา ICC ยืนยันหากรับขอบเขตอำนาจ ไม่ละเมิดตุลาการไทยแน่นอน ขอคุยคนเกี่ยวข้องให้ช้ดก่อน ย้ำต้องละเอียดรอบคอบ....

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 10 พ.ย. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ ออกรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยนายสุรพงษ์ได้ใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงความคืบหน้าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศไทยและนานาชาติ ที่ถือได้ว่ามีการพัฒนาไปอย่างมาก หลายต่อหลายครั้งที่เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมี หรือไม่มีมานานแล้ว ในเรื่องการต่างประเทศ เช่นเร็วๆ นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีกำหนดการเยือนประเทศอังกฤษ ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ ซึ่งแทบไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าผู้นำรัฐบาลจากประเทศใดจะได้รับโอกาสเช่นนี้

"รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาก เห็นได้จากในปีที่ผ่านมา ที่นายกฯ เดินทางไปเยือนต่างประเทศค่อนข้างมาก เยือน 17 ประเทศในปีเดียว และต่างประเทศก็มาเยือนเรา ซึ่งนายกฯ ชี้ให้ผู้นำเข้าใจในพัฒนาการทางด้านการเมืองของเรา และแสดงถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้เขาเกิดความมั่นใจ ส่งผลให้ผู้นำหลายประเทศอยากมาเยือนเรา โดยเฉพาะเดือนนี้มีหลายประเทศมาเยือนเรา เริ่มตั้งแต่คณะกรรมาธิการยุโรป ที่ไม่เคยมาเยือนเราเลย ก็มาเยือนเป็นครั้งแรก และประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ซึ่งมีความร่วมมือหลายด้านด้วยกัน ที่เราได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไปเยือนเขา
"

...

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า และในวันที่ 12-15 พ.ย.นี้ นายกฯ จะไปเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการ และได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งปกติการได้เข้าเฝ้าฯ จะต้องเป็นประมุขของรัฐ ครั้งนี้ถือว่าได้รับเกียรติอย่างสูงที่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ การเดินทางไปครั้งนี้ นายกฯ จะพานักธุรกิจไปด้วย ถือโอกาสประกาศหุ้นส่วนทางธุรกิจร่วมกัน ดูแม่น้ำเทมส์และการจัดการรถไฟฟ้าของอังกฤษ โดยเฉพาะการเดินทางไปอังกฤษครั้งนี้ มีผู้ใหญ่ระดับซีอีโอของไทยไปด้วย และทางอังกฤษก็เตรียมระดับผู้นำธุรกิจของเขามาคุยกัน ทุกครั้งที่ไปก็จะมีโอกาสที่นักธุรกิจได้เปิดการซื้อขายกัน ส่วนใหญ่ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้เขาเห็น ยิ่งเราฟื้นตัวจากภาวะน้ำท่วมรวดเร็ว และงบประมาณในการลงทุนเรื่องน้ำในอนาคต การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและประเทศไทยลงทุนค่อนข้างเยอะในการสร้างโครงสร้างฟื้นฐาน เป็นสิ่งที่ทุกประเทศให้ความสนใจ และใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายการทำธุรกิจและธุรกิจของเขา ก็เป็นโอกาสดีของไทย

หลังจากที่กลับมา

"นอกจากนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ก็จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 18 พ.ย. ถือว่าประเทศไทยถึงจุดที่ต่างชาติให้ความสำคัญอย่างมาก และวันที่ 16 พ.ย. มีประธานาธิบดียูกันดามาเยือนไทย ก็เป็นครั้งแรกอีกที่มาเยือนไทย เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ต่างๆ ดีขึ้น การค้าการลงทุนก็น่าจะดีขึ้นด้วย เพราะทุกท่านมาแล้วก็ประทับใจในความงามและนิสัยใจคอของคนไทย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ตั้งใจ และปีนี้ก็ต้องทำงานหนักขึ้นด้วย ปีนี้เป็นปีที่สอง ท่านก็ให้ผมดูแลด้านต่างประเทศ หากท่านนายกฯ ติดภารกิจอื่น ก็ให้ผมรับแขกแทนท่านได้"

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำหรับปีที่สองของรัฐบาลนั้น หลังปีแรกผ่านไป นายกฯ ไปเยือน 17 ประเทศ ตอนนี้ทะลุ 20 ประเทศ ส่วนตนปีแรก 25 ประเทศ ตอนนี้ 35 แล้ว โดยทุกครั้งที่ท่านนายกฯ ไปเยือนก็จะพยายามสรุปว่า ทุกประเทศมีแหล่งพลังงานอะไร เพื่อที่จะได้ขอความร่วมมือเพราะในอนาคตเราห่วงเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องน้ำมัน มีบัญชาชัดเจนว่าจะหาความร่วมมือด้านนี้อย่างไร โดยเฉพาะเรามีความมั่นคงด้านอาหารก็จะไปแลกกับเขา โดยนายกฯ มองแบบนักธุรกิจ ท่านเห็น เข้าใจ และกลับมาพัฒนาได้ ผู้นำบางคนเดินทางไปต่างประเทศ แต่ก็มองไม่ออก แต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์มองออก เป็นคนที่มองออกไปเห็นและกลับมาพัฒนา

ส่วนกรณีคำถามเกี่ยวเรื่องของอัยการสูงสุดศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) นั้น นายสุรพงษ์ ชี้แจงว่า เป็นเรื่องที่คนในประเทศไทยไม่ค่อยเข้าใจ เพราะถูกชี้นำโดยกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจไอซีซี จะเข้ามายุ่งกับประเทศไทยในการรับขอบเขตอำนาจ 4 เรื่อง อาทิ การสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การรุกราน หรือความผิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยจะไม่เข้ามายุ่งในเรื่องกระบวนการยุติธรรม หากข้อมูลที่ส่งให้ดูมีกระบวนการยุติธรรม ไอซีซีก็จะไม่เข้ามายุ่ง นอกจากเห็นว่าไม่ถูกต้อง ส่วนที่หวั่นเกรงว่าจะเป็นการละเมิดอำนาจตุลาการของไทยนั้น ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่การรับขอบเขตอำนาจ ICC จะกลับกลายเป็นภูมิคุ้มกันการกระทำเลวร้ายต่างๆ เช่น การปฏิวัติ รัฐประหาร ฯลฯ ได้

พร้อมกันนี้ นายสุรพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะพิจารณารับหรือไม่รับขอบเขตอำนาจดังกล่าวนั้น ต้องใช้เวลาและความละเอียดรอบคอบในการพิจารณา ซึ่งตนจะหารือกับผู้ที่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆ ก่อน เพื่อให้ได้ความชัดเจน.