คณะรัฐมนตรีถกประกาศใช้กม.ความมั่นคงฯชี้ 19 ก.ย.ม็อบแรง “เทือก”กำชับรัฐมนตรีร่วมรับผิดชอบถกฉุกเฉิน ขณะที่ รมว.คลัง อ้างนักธุรกิจหนุนใช้กม.ความมั่นคงฯ ชี้ไม่กระทบท่องเที่ยว น่ากลัวน้อยกว่าไข้หวัด2009...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในช่วงใกล้เที่ยงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี  ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ได้เสนอให้ ครม.รับทราบมติของที่ประชุม ศอ.รส.เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยได้สรุปเป็นเอกสารเสนอ ครม.จำนวน 2 แผ่น มีนายสุเทพ อ่านเอกสารชี้แจงต่อ ครม.จากนั้นก็ได้ขอเก็บกลับคืนเนื่องจากเป็นเอกสารตีตราลับ

ทั้งนี้นายสุเทพ ได้อ่านรายงานว่า ผลการดำเนินการตาม  พ.ร.บ.การรักษาความั่นคงภายในราชอาณาจักร   ในช่วงที่ผ่านมา มีการใช้กำลัง 37กองร้อย จำนวนการตั้งด่านจุดตรวจ ส่วนการวิเคราะห์ประเมินการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ทางศอ.รส.ระบุว่า ในช่วง 2 สัปดาห์นี้จะไม่มีการชุมนุมอะไรที่รุนแรง   หรือมีกลุ่มผู้ชุมนุมขนาดใหญ่ แต่หลังวันที่ 19 ก.ย.แล้วเชื่อว่า  น่าจะมีการชุมนุมโดยอิงกับสัญลักษณ์  เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปี ของการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ซึ่งทำให้เกิดแรงจูงใจให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก

นายสุเทพ รายงานต่อว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงได้ชี้ชัด การชุมนุมมีวัตถุประสงค์ ต้องการจะล้มล้างรัฐบาล โดยรูปแบบการชุมนุมจะยือเยื้อ  และมีทัศนคติเหมือนกับการชุมนุมกลุ่มอื่นที่เคยกระทำมา สำหรับแนวทางการป้องกันนั้น ถ้ามีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แล้วไม่ตรงกับช่วงวันอังคารที่ ครม.ประชุม ก็สามารถที่จะเรียกประชุม ครม.ฉุกเฉินขึ้นมาได้ เพราะถ้าหากมีการประชุมครม.แล้วประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯออกไป อาจจะทำให้เกิดปัญหาว่า มติ ครม.การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความั่นคงฯ ดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่  ดังนั้นถ้าหากมีการข่าวอะไรที่จะชี้ให้เห็นว่า  จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงขอให้ ครม.ทุกคนเตรียมพร้อมมาร่วมประชุม  ร่วมรับผิดชอบในการประกาศใช้  พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ด้วย

ทั้งนี้นายกฯได้สอบถามทางเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยว่า นายกฯต้องเซ็นยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ประกาศใช้ตั้งแต่วัน ที่ 29 ส.ค.-1 ก.ย.ที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ก็มีคนนำมาให้เซ็นยกเลิก และถ้าต้องมีการประกาศใช้  พ.ร.บ.ความั่นคงฯ จะต้องเรียกประชุม ครม.ชุดใหญ่เต็มคณะหรือไม่ ซึ่งคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบชี้แจงว่า ถ้ากรณีประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยมีวาระเริ่มต้นและกำหนดปิดท้าย  นายกฯก็ไม่ต้องเซ็นยกเลิก แต่ถ้าเป็นการประกาศที่มีแต่วันเริ่ม แต่ไม่มีวันปิดก็ต้องไปประกาศยกเลิก สำหรับเรื่ององค์ประชุม ครม.นั้นโดยปกติองค์ประชุม ครม.ให้นับเสียง 1 ใน 3 แต่ในกรณีฉุกเฉินก็สามารถเรียกประชุม ครม.นัดฉุกเฉินเฉพาะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้ก็ถือเป็นองค์ประชุมแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในที่ประชุมนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯแสดงความเห็นว่า  หากจะประกาศใช้  พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ  ก็น่าจะขอมติ ครม.โดยให้อนุมัติในหลักการไว้ก่อนเลยจะได้หรือไม่ ซึ่งคุณพรทิพย์ โต้แย้งว่า  คงทำไม่ได้เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องขององค์ประชุม และหลักเกณฑ์เงื่อนไขตามที่ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการประชุม ครม.ได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังได้สอบถามถึงผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยนายกฯได้สอบถามขึ้นมาว่า   จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ซึ่งนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ชี้แจงว่า เท่าที่ได้พูดคุยกับผู้นำทางธุรกิจต่างชาติ รวมทั้งนายแบงค์ต่างสนับสนุนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพราะจะช่วยทำให้เกิดความมั่นใจและรักษาภาพความสงบเรียบร้อยในประเทศได้ดี ด้านนายสุเทพ ก็กล่าวเช่นกันว่า  เท่าที่ได้คุยกับนักธุรกิจส่วนหนึ่งยังเสนอตนเลยว่า  ให้ประกาศใช้ยาวไปเลยจะได้ทำให้เกิดความมั่นใจและเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาคส่ง ออกและการท่องเที่ยว เพราะช่วงเดือนต.ค. รือพ.ย.ก็คงไม่กระทบเพราะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นชี้ไม่กระทบท่องเที่ยว น่ากลัวน้อยกว่าหวัด09

ขณะที่นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า ผลกระทบที่จะมีต่อการท่องเที่ยวแบบฉับพลันทันทีคงไม่มี ตอนนี้ไม่มีการยกเลิกทัวร์ หรือเที่ยวบิน แต่ในระยะยาวอาจจะส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาบ้าง แต่ก็สนับสนุนจะประกาศใช้ก็ประกาศ หวังในภาพรวมมากกว่า การประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯไม่น่ากลัวเท่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อีก และมั่นใจว่า  ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยว 14.5 ล้านคนสามารถทำได้แน่.

...