เพราะวิกฤติการเมือง ถ้ามองโลกในแง่ดีทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวกับการเมืองขึ้นเยอะ รู้จักเรียนรู้การเมืองมากขึ้น สนใจกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น มีโอกาสตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น ที่สำคัญที่สุดก็คือกระตุ้นต่อมความรู้สึกรับผิดชอบทางการเมืองให้สูบฉีดมากขึ้น
สังเกตไม่ยาก สมัยก่อนถ้าฝีปากจัดจ้านก็ต้องยกให้ นัก การเมืองมืออาชีพ ขึ้นเวทีเมื่อไหร่ คนติดกันงอมแงม พูดได้ น้ำไหลไฟดับ ยิ่งพูดเก่งเท่าไหร่ ก็ได้รับความนิยมจากชาวบ้านมากเท่านั้น
แต่ในปัจจุบัน ชาวบ้านเดินดินธรรมดานี่แหละ ลองให้ วิจารณ์การเมืองดู เจ็บแสบไม่แพ้นักการเมืองมืออาชีพ ความคิดความอ่าน ยังเฉียบแหลมกว่าบรรดานักการเมืองที่แอ็กอ๊าดอยู่ในสภาด้วยซ้ำ
การเมืองในภาคใต้ ใช่ว่า ส่งเสาไฟฟ้า ลงสมัครแล้วจะได้มา ง่ายๆเหมือนในสมัยก่อน พรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ กับการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.สุราษฎร์ธานี หนนี้ คงเห็นว่าตั้งอยู่บนความไม่ประมาท เพราะฉะนั้นในอนาคต พรรคประชาธิปัตย์คิดจะปักธงแค่พรรคเดียวในภาคใต้ คงจะยากแล้ว
การเมืองเริ่มจะพลิกโฉม
บทเรียนจากนักการเมือง ระหว่างนักพูดกับนักปฏิบัติ เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ฟังพูดจนน้ำลายแตกฟอง เพลินๆดี แต่กลับบ้านท้องยังหิวเหมือนเดิม
สู้เอาอิ่มท้องไว้ก่อนดีกว่า
ไม่เฉพาะบ้านเรา ประเทศจีนยังต้องเอาเศรษฐกิจนำการเมือง พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนามหันมาเน้นนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แม้แต่ในหลายประเทศที่การเมืองแรงๆ ก็พยายามที่จะแยกการเมืองออกจากเศรษฐกิจ
เนื่องจากประชาชนต้องมาก่อน
การเลือกตั้งล่าสุดที่ญี่ปุ่น พรรคฝ่ายค้าน เดโมแครติก ปาร์ตี้ ออฟ เจแปน หรือ ดีพีเจ กวาดชัยชนะเหนือพรรคลิเบอรัลเดโมแครต ปาร์ตี้ หรือแอลดีพีของนายกฯทาโร อาโสะ อย่างถล่มทลาย
...
อาจจะเป็นการปิดฉากการบริหารประเทศของแอลดีพีที่ยาวนาน ต่อเนื่องมาครึ่งศตวรรษ ไม่ใช่เพราะฝ่ายค้านมีจุดเด่น จนเกิดกระแส ฟีเวอร์อะไรนักหนา แต่เป็นเพราะรัฐบาลบริหารงานได้ หน่อมแน้ม เกิดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งในสภาอย่างหนัก ทุจริตคอรัปชันก็เริ่มจะบานทะโรค
คนเลยเบื่อ
โฉมหน้าการเมืองที่กำลังจะเปลี่ยนไปในแบบที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ถือว่าเป็นบทเรียนของพรรคการเมืองและนักการเมือง ที่ยังจมอยู่กับทัศนคติเก่าๆ
ในสถานการณ์การเมืองเยี่ยงนี้ ผมเดาใจนายกฯอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรเสียก็ไม่ยอมตัดสินใจยุบสภาเด็ดขาด ขึ้นอยู่กับว่าในอีกสองสัปดาห์ปัญหา ผบ.ตร. จะลงตัวหรือไม่ หรือจะยอมเสี่ยง.
หมัดเหล็ก