ส่วนหนึ่งของกิจกรรม เนื่องในเทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ 6 ประจำ ปี พ.ศ.2552 คือ นิทรรศการ เรื่อง "ศิลปะทวาราวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย" ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑ์สถาน แห่งชาติ
เปิดให้ประชาชนเขาชมตั้งแต่ วันที่ 14 ส.ค.ไปจนถึงวันที่ 9 ต.ค.นี้
ตอนหนึ่งจากหนังสือ ศิลปะทวาราวดี ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย (มีจำหน่ายในงาน) ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เขียนเรื่องพระพิมพ์...ว่า
สมัยทวาราวดี นิยมสร้างพระพิมพ์ด้วยดิน เผา คติในการสร้างพระพิมพ์แต่เดิมนั้น คงมี วัตถุประสงค์เพื่อเป็นของที่ระลึก แสดงถึงการที่พุทธศาสนิกชนได้ไปบูชาสังเวชนียสถานทางพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย 4 แห่ง
คือสถานที่ประสูติ (สวนลุมพินี) สถานที่ ตรัสรู้ (ตำบลพุทธคยา) สถานที่ประทานปฐมเทศนา (ตำบลสารนาถ) และสถานที่ปรินิพพาน (เมืองกุสินารา)
หรือสร้างขึ้นเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา ให้พระพุทธรูปและพระธรรมอันเป็นหัวใจของพุทธศาสนาปรากฏอยู่ แม้จนกระทั่งเมื่อปัญจอันตรธานมาถึง
โดยเชื่อตามคัมภีร์ของลังกาว่า เมื่อ พ.ศ.5000 มาถึง พระพุทธศาสนาจะเสื่อม ทราม ไม่มีพระสงฆ์และไม่มีใครสามารถรู้พระธรรมวินัยแล้ว
หากได้พบพระพิมพ์และจารึกย่อๆ คาถา เย ธัมมา (ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา) แล้ว ก็ยังจะรู้ได้ว่า มีพระพุทธศาสนาซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเกิดขึ้นแล้ว
ด้วยเหตุนี้ จึงนิยมสร้างพระพิมพ์จำนวนมากบรรจุไว้ตามเจติยสถาน เพื่อเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนา
พระพิมพ์ที่สร้างขึ้นสมัยทวาราวดี มีหลายรูปแบบ...ดังนี้
พระพิมพ์ปางมหาปาฏิหาริย์ พบที่ราชบุรี มีจารึกคาถา เย ธัมมา อยู่ด้านหลัง (ในภาพ) พระพิมพ์นี้ ได้มีการตีความออกเป็น 2 แนวความคิด
แนวคิดแรกชื่อ ว่า เป็นพระพุทธประวัติตอนแสดงมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี
แนวคิดที่สอง เป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมบนยอดเขาคิชฌกูฏ ตามคัมภีร์สัทธรรมบุณฑริกสูตรของมหายาน ที่ใช้ภาษาสันสกฤต ผสมภาษาปรากฤต
คัมภีร์นี้กล่าวถึงการแสดงธรรมของพระ พุทธเจ้าเป็น 4 ขั้น เพื่อสั่งสอนให้สัตว์ทั้งหลายได้พ้นทุกข์ โดยแสดงธรรมขั้นต่ำแก่ฝ่ายหินยานก่อน แล้วจึงแสดงธรรมชั้นสูงต่อฝ่ายมหายาน โดยแสดงต่อพระโพธิสัตว์ เพื่อให้ถึงความเป็นพระพุทธเจ้า (ตรัสรู้) เท่านั้น
พระพิมพ์ซุ้มพุทธคยา มีทั้งพิมพ์เล็กพิมพ์ใหญ่ เป็นแบบที่สืบทอดมาจากต้นแบบพระพิมพ์พุทธคยาในประเทศอินเดีย พบมาก ที่นครปฐม เมืองอู่ทอง ราชบุรี กาญจนบุรี กรุวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ และพระปรางค์วัด ราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การค้นพบพระพิมพ์พุทธคยา นับเป็น หลักฐานสำคัญที่แสดงให้ถึงเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ที่สุดสิ่งหนึ่ง เพราะพบทั้งในประเทศอินเดีย พม่า และไทย
พระพิมพ์ที่ประกอบด้วยสถูปหรือธรรมจักรด้านข้าง เป็นพระพิมพ์ดินเผาอีกรูปแบบหนึ่งที่แพร่หลายในวัฒนธรรมทวาราวดี ประกอบด้วยพระพุทธรูปประทับอยู่ตรงกลาง ประดับด้วยสถูปและธรรมจักร หรืออาจเป็นสถูปทั้งสองด้าน
องค์พระโดยทั่วไปมี ปางสมาธิ ปาง มารวิชัย และปางประทับนั่งด้วยพระบาท แสดงปางประทานธรรม.
...
O บาราย O