"มาร์ค" ลงสุโขทัยจี้รัฐจัดระบบเตือนภัยล่วงหน้า ถามจี้ใจดำผลาญงบ 1.2 แสนล้านแก้ตรงไหน...
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวก่อนลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อตรวจสถานการณ์น้ำท่วมและเยี่ยมเยียนชาวบ้านว่า น้ำท่วมในหลายพื้นที่แต่สถานการณ์ที่สุโขทัยหนักกว่าที่อื่นเพราะน้ำทะลัก เข้ามาในระดับค่อนข้างสูง ซึ่งตนเป็นห่วงเพราะไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดเหตุอย่างนี้แต่หลายพื้นที่น้ำท่วมจึงอยากเร่งรัดให้รัฐบาลดูแลช่วยเหลือประชาชนและเร่งประเมินว่าเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการจัดระบบในเรื่องการเตือนภัย และอพยพ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดปัญหาในปีที่แล้ว ควรจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในปีนี้ โดยเห็นว่ารัฐบาลต้องไปตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น เนื่องจากเคยมีบทเรียนจากปีที่แล้ว


...
อย่างไรก็ดี แม้ในขณะนี้ยังไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์จะย้อนรอยเหมือนปีที่แล้วทั้งหมด แต่รัฐบาลใช้เงินไปกว่า 1 แสนล้านในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโดยบอกว่าจะปรับปรุงทุกอย่างอย่างเป็นระบบ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุก็ต้องไปดูและแก้ไขไม่ใช่แก้ตัว
ย้ำรัฐเหลวแก้น้ำ อย่าแก้ตัวต้องดีกว่าปีก่อน
"ต้องแก้ไขนะครับ อย่างหลายพื้นที่เมื่อเกิดเหตุการณ์เตือนประชาชนต้องทำให้ดีกว่าปีที่แล้ว ซึ่งบางพื้นที่ก็เตือนไม่นาน แต่ก็ต้องดูว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็ตรงกันข้ามกับการที่รัฐบาลประชาสัมพันธ์ในการจัดนิทรรศการน้ำเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลยืนยันว่าระบบมีความพร้อมไม่มีปัญหา เหมือนกับตอนเกิดเหตุน้ำท่วมที่อยุธยารัฐบาลก็คิดแต่จะแก้ตัวว่าไม่เกี่ยวกับการทดสอบการระบายน้ำ ทั้งที่ข้อมูลก็ขัดแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลเคยพูดก่อนหน้านั้นเกี่ยวกับเส้นทางการระบายน้ำ แต่ผมย้ำมาตลอดว่า ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการทดสอบหรือไม่ ปัญหาคือน้ำท่วมแล้ว ชาวนาเสียหายมาก รัฐบาลต้องแก้ไข แต่ก็ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกว่าเหตุการณ์จะเหมือนน้ำท่วมใหญ่ปีที่แล้ว เพราะปริมาณน้ำในปีที่แล้วมากกว่า แต่ที่น่าเป็นห่วงคือสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่ายังต้องปรับปรุงในการบริหารจัดการ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว


เมื่อถามว่านายรอยล จิตรดอน คณะกรรมการ กบอ. ระบุว่า ปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วถึง 20% แต่ยังเกิดเหตุการณ์เช่นนี้คิดว่า ทาง กบอ.ควรทบทวนแนวทางการดำเนินการอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กรณีที่สุโขทัยรัฐบาลต้องตรวจสอบว่าที่น้ำทะลักเข้ามาจุดรั่วเกิดจากตรงไหนอย่างไร และในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงซึ่งพรรคเคยเสนอความเห็นเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยง ว่าต้องมีระบบการเตือนภัย การชดเชยเยียวยาล่วงหน้า นอกจากนี้ยังต้องถามรัฐบาลว่า 1.2 แสนล้านกับอีกเป็นหมื่นล้านในงบกลางได้นำไปใช้ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมหรือไม่ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้เห็นว่าพื้นที่ไหนยังมีปัญหา โดยต้องตรวจสอบว่างบประมาณที่ลงไปนำไปทำอะไรและทำไมจึงยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในขณะที่ กบอ.ต้องใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เพื่อประเมินว่าสอดคล้องกับการประเมินหลังน้ำท่วมใหญ่ปีที่แล้ว และจะป้องกันอย่างไร.