มติ สภาทนายความ ส่ง "สัก กอแสงเรือง" เข้ารับสรรหาเป็น สมาชิกวุฒิสภา ครั้งที่สอง มั่นใจ มีคุณสมบัติครบถ้วน ตามข้อ ก.ม. แม้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งจะมีคำสั่งเพิกถอนออกจากตำแหน่ง ส.ว.มาก่อน

วันที่ 23 ส.ค.ที่สภาทนายความ นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่าย นโยบายและแผนงาน รักษาการประธานกรรมการสำนักวิจัยและพัฒนากฎหมายสภาทนายความ แถลงถึง กรณีสภาทนายความ มีมติเสนอชื่อ นายสัก กอแสงเรือง เข้ารับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ภาคองค์กรวิชาชีพอีกครั้ง ว่า ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ทำการไต่สวนกรณีมีผู้ร้องคัดค้านการสรรหา นายสัก กอแสงเรือง เป็น สมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2554

ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำสั่งเพิกถอนการสรรหานายสัก กอแสงเรือง เป็นสมาชิกวุฒิสภา ส่วนคำขอที่ให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ศาลมีคำสั่ง ให้ยกเสีย เนื่องจากนายสัก กอแสงเรือง มิได้กระทำการโดยไม่สุจริต โดยให้มีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาใหม่แทน นายสัก กอแสงเรือง ซึ่ง คณะกรรมการการ เลือกตั้งได้กำหนดให้มีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาแทน นายสัก กอแสงเรือง ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2555 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2555 นั้น

ปรากฏว่า ในการประชุมคณะกรรมการสภาทนายความครั้งพิเศษที่ 4/2555 วันที่ 20 สิงหาคม 2555 มีมติ ให้ส่งนายสัก กอแสงเรือง เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในการสรรหาปี พ.ศ. 2555 อีกครั้งหนึ่ง

ด้วยความเคารพต่อคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง สภาทนายความเห็นว่า แม้คำสั่งของ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งจะเป็นคำสั่งอันถึงที่สุด แต่คำสั่งของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งยังมีความคลาดเคลื่อนอีกหลายประการ ซึ่งคงเป็นประเด็นศึกษาในวงวิชาการ นิติศาสตร์ เช่น


1. ประเด็นคำวินิจฉัยความหมายคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น” ที่เป็น คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 115(9 ) หมายความ รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา ด้วย ซึ่งสภาทนายความเห็นว่า ทำให้เกิดผลตีความที่แปลกประหลาด กล่าวคือ

1.1 ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ไม่อาจเป็นสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา ต้องห้ามตามมาตรา 116 วรรคแรก

1.2 สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภามีกำหนดคราวละหกปี และจะดำรงตำแหน่ง ติดต่อกันเกินหนึ่งวาระมิได้ ซึ่งหมายความ ห้ามผู้ที่เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้วมาเป็นสมาชิกวุฒิสภามีกำหนด หกปีตามมาตรา 117 วรรคสอง แต่เมื่อตีความว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น” หมายความรวมสมาชิก วุฒิสภาแล้ว จะทำให้ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ต้องห้ามเป็นสมาชิกวุฒิสภาเพียงห้าปีเท่านั้นตามมาตรา 115 (9 )


2. ในการสรรหานายสัก กอแสงเรือง เป็นสมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมการเลือกตั้ง ได้กลั่นกรอง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายสัก กอแสงเรือง พร้อมด้วยอดีตสมาชิกวุฒิสภาในสมัยเดียวกับ นายสัก กอแสงเรือง อีกหลายคน และส่งรายชื่อผู้เข้ารับการสรรหาดังกล่าวต่อคณะกรรมการสรรหา

โดยคณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในประเด็น ดังกล่าวข้างต้นแล้ว เห็นว่า นายสัก กอแสงเรือง พ้นสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกวุฒิสภาเกินกว่าห้าปีแล้ว จึงได้ทำการสรรหา นายสัก กอแสงเรือง เป็นสมาชิกวุฒิสภา ปรากฏตามข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เมื่อ วันที่ 12 เมษายน 2555 ดังนั้น การวินิจฉัย ของคณะกรรมการสรรหาย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 130 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมไม่มีอำนาจหยิบยกมาวินิจฉัยได้อีก


3. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2543 มีผลผูกพัน ทุกองค์กรรวมทั้งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งด้วย แต่เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด แล้วศาลรัฐธรรมนูญยังมิได้วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสมัยเดียวกับนายสัก กอแสงเรือง เริ่มต้นนับอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งก่อนสมัย ที่มีการเลือกตั้งนายสัก กอแสงเรือง เป็นสมาชิกวุฒิสภานั้น สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 เป็นคำที่ยกมาจากประเด็นที่วุฒิสภาตั้งไว้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกวุฒิสภาชุดใดที่ปฏิบัติหน้าที่สมาชิก วุฒิสภา เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งไม่ครบจำนวนตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมิได้มี คำวินิจฉัยที่ผูกพันศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งแต่ประการใด การอ้างคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงอาจจะยังคลาดเคลื่อน

ประเด็นข้างต้น นายสัก กอแสงเรือง ได้ยื่นคำคัดค้านเป็นประเด็นไว้แล้ว บางประเด็นศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้งยังมิได้วินิจฉัย อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นย่อยที่ควรนำมาศึกษาอีกหลายประเด็น


อย่างไรก็ดี เมื่อมีบทบัญญัติให้คำสั่งของศาลฎีกาถึงที่สุด นายสัก กอแสงเรือง จำต้องน้อมรับ คำสั่งดังกล่าว และขอถือข้อสังเกตของสภาทนายความ เป็นการตั้งประเด็นเพื่อการศึกษาวิชา นิติศาสตร์ต่อไป และเมื่อมาตรา 116(4) ที่บัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาของนายสัก สิ้นสุดลงเพราะขาดคุณสมบัติตามมาตรา 115 มาใช้บังคับกับกรณีของนายสัก กอแสงเรือง ตามผลของคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่มีคำสั่งเพิกถอนการสรรหา กรณีจึงถือได้ว่าการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาตามคำสั่งของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งดังกล่าวไม่ชอบ และมีผลทำให้การสรรหาเป็นโมฆะ ดังนั้น นายสัก กอแสงเรือง จึงมิได้เป็นสมาชิกวุฒิสภามาตั้งแต่ต้น นายสัก กอแสงเรือง จึงนำเงินเดือนสมาชิกวุฒิสภา ทั้งหมดที่ได้รับมาส่งคืนแก่วุฒิสภาแล้ว

สภาทนายความเห็นว่า นายสัก กอแสงเรือง เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และมีความซื่อสัตย์ สุจริต ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะด้วยดีเสมอมา และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้อง ห้ามเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา จึงเหมาะสมที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา นายเจษฎา กล่าว.

...