คำนูณ สิทธิสมาน

"คำนูณ"ตอกรัฐบาลตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯเชื่อว่า  ท้ายสุดก็จะเป็นงูกินหาง ชี้หากรัฐบาลจริงใจและตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาศึกษาตั้งแต่สองเดือนแรกก็เชื่อว่า จะสามารถสร้างความเห็นพ้องต้องกันได้ระดับหนึ่ง...

วันนี้(24 ส.ค.)เวลา 18.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ตั้งกระทู้เถามรื่องแนวทางการดำเนินการปฏิรูปการเมืองตามนโยบายของรัฐบาล ข้อ1.1.3 ว่า นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาอย่างชัดเจนว่า“หน้าที่เบื้องต้นของผม คือการยุติการเมืองที่ล้มเหลว”แต่มาถึงบัดนี้ยังไม่เห็นว่า  นายกฯได้ปฏิบัติอย่างไร  เพราะการแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมืองเชื่อว่า  ท้ายสุดก็จะเป็นงูกินหาง หากรัฐบาลจริงใจและตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาศึกษาตั้งแต่สองเดือนแรกก็เชื่อว่า จะสามารถสร้างความเห็นพ้องต้องกันได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อยังเลือกใช้วิธีตั้งคณะกรรมการฯ แล้วให้คณะกรรมการเสนอผลมายังรัฐบาล จึงอยากถามว่ารัฐบาลมีนโยบายจะดำเนินการตามนโยบายปฏิรูปการเมืองได้เมื่อใด และจะให้เสร็จสิ้นลงได้เมื่อใดและขอถามตรงๆว่าในความเห็นที่หลากหลายรัฐบาล จะเอาอย่างไรกันแน่

ขณะที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เป็นเรื่องจริงที่ได้เขียนไว้ในนโยบายของรัฐบาลว่า  ให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปการเมือง ซึ่งที่ผ่านมานายกฯก็หารือกับผู้เกี่ยวข้องตลอดว่า จะออกมาในรูปใด แต่ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนักต้องให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยภายใต้กรอบที่กำหนด และนายกฯก็พยายามตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปฏิรูปการเมือง   แต่ก็ได้รับเสียงคัดค้านจนนำมาสู่ความเห็นที่ตรงกันที่จะตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์

ส่วนที่ถามว่าเหตุใดจึงต้องส่งผลสรุปมายังรัฐบาลจนทำให้เหมือนลักษณะงูกินหางนั้น นายสาทิตย์ ชี้แจงว่า  แนวทางหนึ่งคือข้อเสนอให้ปฏิรูปการเมืองซึ่งจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกฯได้เชิญหลายฝ่ายมาประชุม  แต่เสียงทั้งเห็นด้วยและคัดค้านพอๆกัน จึงเห็นตรงกันว่า  หากรัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ก็จะเป็นเงื่อนไขสร้างความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมาอีก สุดท้ายทุกพรรคที่ประชุมร่วมกันจึงเห็นพ้องกันว่าให้เป็นเรื่องของแต่ละพรรคจะตัดสินใจ

นายสาทิตย์ ชี้แจงอีกว่า ส่วนแนวทางความสมานฉันท์ล่าสุดได้มีบางพรรคการเมืองเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้บางกลุ่มออกมา เมื่อประธานรัฐสภาสั่งบรรจุระเบียบวาระ วิปรัฐบาลจะรับกฎหมายนี้ไปพิจารณากัน ยอมรับว่าการเมืองเดินมาถึงจุดนี้ การตัดสินใจหลังจากนี้จะยิ่งสำคัญมากกว่า โจทย์ใหญ่คือแนวทางของวิปรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางสมานฉันท์ ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องที่แต่ละพรรคต้องนำมาหารือกัน ข้อกล่าวหาของรัฐบาลที่อาจมีปัญหาเรื่องทุจริตคอรัปชัน ก็สะท้อนว่า  ในที่สุดก็ยังนำไปสู่การเมืองที่ล้มเหลว ยอมรับว่า รัฐบาลบริหารประเทศผ่านมา 8 เดือน กฎเหล็ก 9 ข้อที่นายกฯเคยประกาศไว้ก็ได้รับการท้าทายมาตลอดเหมือนกัน.

...