เฉลิม อยู่บำรุง
อดีตตำรวจ - เฉลิม ตั้งวงอัดยับนายกฯ แต่งตั้ง รักษาการ ผบ.ตร. เตรียมชงเข้าที่ประชุม พท. 25 ส.ค. ยื่นถอดถอน ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ด้าน อดีต ส.ส.ร.ปี 40 ฉะ อดีต ส.ส.ร.ปี 50 ปิดปากเงียบ การเมืองแทรก ตร. ...
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการสัมมนา "การแทรกแซงองค์กรตำรวจของกลุ่มการเมือง" โดย พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กล่าวตอนหนึ่งว่า การบริหารราชการแผ่นดินที่ดีคนที่เป็นนายต้องถามผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ต้องการอะไร ไม่ใช่บอกว่าตัวเองต้องการอะไร ที่ผ่านมาไม่เคยเห็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ถามผู้ใต้บังคับบัญชาว่าต้องการใคร มีแต่บอกว่าต้องการใคร นายกรัฐมนตรี ไม่เข้าใจและขาดประสบการณ์บริหาราชการแผ่นดิน หากศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่าในอดีตมีการแก้ปัญหาโหวตเลือกผบ.ตร.ด้วย วิธีที่ดีกว่าปัจจุบัน เช่น การลงคะแนนลับ แล้วเป็นคณะกรรมการส่วนของตำรวจและกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ถ้าเปิดให้โหวตโดยเปิดเผยจะเปลี่ยนแปลงภายหลังไม่ได้ ดังนั้นในจำนวน 5 คนที่ไม่โหวตให้พล.ต.อ.ประทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ จะมาโหวตให้ภายหลังไม่ได้ โดยเฉพาะนายนพดล อินนา กรรมการตรวจสอบและติดตามนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ไม่มีทางที่จะโหวตให้พล.ต.อ.ปทีปแน่
ด้าน พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช รองนายกสมาคมตำรวจ กล่าวว่า ตามหลักการเมื่อเมื่อนักการเมืองจากทุกพรรคการเมืองเข้ามาใช้อำนาจ เป็นธรรมดาที่จะแทรกแซงองค์กรตำรวจว่ามากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ว่าใครล้วงมากล้วงน้อย ตำรวจจึงเป็นจำเลย ทุกวันนี้เป็นขยะของสังคม เพราะนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง โดยเฉพาะให้เอื้อต่อการเลือกตั้ง เมื่อตำรวจต้องบริการนักการเมืองแล้วถามว่าจะมองเห็นหัวประชาชนหรือไม่ ในเมื่อสังคมเป็นเช่นนี้แล้วจะคาดหวังอะไร
ขณะที่ นายคนิณ บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 กล่าวว่า ปัญหาการแต่งตั้ง ผบ.ตร.เป็นแค่ปลายเหตุ ที่ไม่เพียงกระทบต่อองค์กรตำรวจ แต่กระทบการเมืองทั้งระบบ อดีตส.ส.ร. ปี 2550 จะอธิบายเรื่องนี้ได้ดี แต่ปรากฏว่าเงียบสนิท ถ้าเป็นสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปยุ่งเหยิงกับตำรวจขนาดนี้ ป่านนี้คงได้ออกมารุมถล่มกันวายวอด สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ปัญหา แต่เป็นวิกฤติ ส่วนกรณี นายกรัฐมนตรี พูดถึงหลักนิติรัฐ อยากถามว่านายกรัฐมนตรี เข้าใจหรือไม่ว่านิติรัฐคืออะไร
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน และประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ตั้งพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร.รักษาการแทน ผบ.ตร.แทนพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ที่ไปราชการต่างประเทศในครั้งแรกนั้น ผิดระเบียบการจัดลำดับอาวุโส ส่วนกรณี ตั้งพล.ต.อ.วิเชียรรักษาราชการแทนผบ.ตร. ที่ถูกสั่งไปปฏิบัติราชการในภาคใต้ จะเป็นเหตุให้สามัคคีกันเดินเข้าคุก เพราะการตั้งรักษาการผบ.ตร. ต้องทำในกรณีตำแหน่งว่างลง และกรณีปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ แต่พล.ต.อ.พัชรวาท ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ ยืนยันว่านายกรัฐมนตรี มีพฤติกรรมน่าเชื่อว่าแทรกแซงตำรวจ จงใจไม่นำพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยเรียร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. ลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 195 ที่ระบุว่าพระบรมราชโองการใดก็ตามที่พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือเสมือ หนึ่งว่าโปรดเกล้าฯ แล้วต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ เรื่องนี้ในวันที่ 25 ส.ค.นี้จะนำเสนอต่อที่ประชุมพรรคเพื่อไทยว่า พฤติกรรมเช่นนี้เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพื่อดำเนินการฟ้องร้องและถอดถอนนายอภิสิทธิ์หรือไม่ โดยจะเป็นคนที่เขียนคำร้องทุกกล่าวโทษด้วยตัวเอง
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวต่อถึงการตั้งพล.ต.อ.วิเชียร รักษาราชการแทนผบ.ตร.ที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดภาคใต้ ว่า เรื่องนี้ปรากฏชัดว่าขัดต่อละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา157 ที่สำคัญรัฐธรรมนูญเขียนชัดว่านายกรัฐมนตรี และรับผิดชอบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที แต่ เก็บไว้ทำไม เกือบ 2 เดือนแล้ว ที่สำคัญที่สุดเมื่อวันที่ 13 ส.ค. พล.ต.อ.วิเชียร ทำหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้เลื่อนการประกาศการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในราช กิจจานุเบกษาไปก่อน ดังนั้นพล.ต.อ.วิเชียร ได้สามัคคีเข้าคุกไปกับนายอภิสิทธิ์แน่ โดยจะตนจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างถึงลูกถึงคน เพราะนายกรัฐมนตรี มีพฤติการณ์ส่อใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต้องยื่นถอดถอน ตามมาตรา 270
ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวด้วยว่า หากตนเป็นพล.ต.อ.พัชรวาทจะให้สัมภาษณ์อัดนายกรัฐมนตรี มันจะได้ทำให้นักการเมืองกลัว ไม่กล้าเข้ามายุ่งอีก ที่พูดไม่ได้ปกป้องพล.ต.อ.พัชรวาท เพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งเขาอีก 40 วัน ก็ไปแล้ว แต่ตนยังอยู่ ยังมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะว่าตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจหากนายอภิสิทธิ์ไป ป่านนี้ตนได้เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ยังไม่ไปก็ไม่เป็นไร จากนี้ต่อไปไล่ทุกวัน เพราะสรุปว่ามีฝ่ายการเมืองแทรกแซงองค์กรตำรวจชัดเจน แบบที่ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนก่อนกล้าทำมาก่อน รัฐธรรมนูญ 2550 มันเขียนมาขยับไม่ได้ ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น ความยุติธรรมในเมืองในวันนี้ขาดมาตรฐาน ความยุติธรรมไม่มีความสามัคคีไม่เกิด
พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผบ.ตร. กล่าวว่า การเมืองแทรกแซงองค์กรตำรวจมีอยู่จริง แต่ตอนนี้ตำรวจ รู้จักวางตัวให้เข้ากับการเมือง นายอภิสิทธิ์ พลาดที่ตั้งพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นรักษาการผบ.ตร. ถึง 2 ครั้ง แล้วไม่เสนอชื่อเป็น ผบ.ตร. ตามหลักการบริหารราชการแผ่นดินคนเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องทราบ รู้กฎกติการ ธรรมเนียมประเพณี แต่นายกรัฐมนตรี พลาด เพราะขาดประสบการณ์บริหารราชการแผ่นดิน ผิดพลาดติดต่อกันหลายครั้ง ในกรณีของผบ.ตร.หากมีการฟ้องร้องศาลปกครอง นายกรัฐมนตรีจะตกที่นั่งลำบาก ขอฟันธงเลยว่าความผิดพลาดที่ได้กระทำต่อตำรวจ จะมีผลต่อเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในเร็ววันนี้แน่นอน
"เข้าใจอยู่แล้วว่าใครที่กุมอำนาจรัฐ ผู้นั้นควบคุมตำรวจ แต่ผู้ที่มีอำนาจต้องใช้อำนาจด้วยระบบคุณธรรม ด้วยความยุติธรรม ไม่ใช่ลุแก่อำนาจ ตำรวจจะหมดความอดทน ผมมีข้อสังเกตอยู่อย่างว่า ตอนนี้องค์กรตรวจสอบที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารเข้าไปแทรกแซงกระบวนการ ยุติธรรม ป.ป.ช.ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร แต่ป.ป.ช.ไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ ผิดรัฐธรรมนูญชัดเจน ผมอยากบอกไว้ตรงนี้เลยว่าเมื่อใดก็ตามที่ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดต่อตำรวจในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่7 ต.ค. 2551 เมื่อไหร่ วันนั้นผมจะออกมานำตำรวจทั่วประเทศเอง" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
...