นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชิ่งเผือกร้อน โยนกลองแก้ไขรัฐธรรมนูญ คืน พรรคเพื่อไทย แนะทางออก ถอนร่างเดิม ยื่นร่างใหม่แก้เป็นรายมาตรา ไม่ต้องไปตีความเพิ่ม หรือ ทำประชามติ...
วันที่ 16 ก.ค. ที่ห้องรอยัลจูบิลี่ บอลรูม อิมแพ็คเมืองทองธานี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า ท้ายที่สุดการตัดสินใจต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกเป็นหลัก เบื้องต้นต้องเป็นเรื่องของพรรคการเมือง ที่จะไปหารือกับ ส.ส.ในพรรค เมื่อได้ข้อสรุปเช่นไร ก็นำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนตนมีหน้าที่เพียงการกำกับดูแลการประชุมให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ขอพูดชัดๆ ว่า การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะเดินหน้าได้หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิก โดยการหยิบยกมาหารือในที่ประชุม จากนั้น ก็ขอมติในที่ประชุมว่า จะทำอย่างไรต่อไป สำหรับตนความเห็นส่วนตัวในเรื่องนี้มองว่า ในส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ทำประชามติ ยังมีความไม่ชัดเจน ต้องนำไปสู่การตีความ เช่น จะทำประชามติ ก่อนลงมติในวาระ 3 หรือต้องมีการลงมติวาระ 3 ก่อน ที่จะไปทำประชามติ แต่ที่เห็นชัดเจนคือการทำประชามติ ต้องเสียเงินกว่า 2,000 ล้านบาท
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า โดยความเห็นส่วนตัวมองว่า ทางออกที่ดีที่สุด คือต้องทำในหนทางที่ไม่ต้องทำให้เกิดปัญหา และตีความให้ยุ่งยาก คือให้โละของเดิมทิ้งแล้วให้ ส.ส. และ ส.ว. ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เป็นรายมาตรา ซึ่งตรงนี้จะไม่ทำให้เสียเงิน หรือต้องไปตีความ แต่ความเห็นที่ตนเสนอมานี้จะทำได้หรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมฯ
หากตนมีอำนาจที่จะใช้ดุลยพินิจ ก็จะยืนยันแนวคิดนี้ เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของประเทศและไม่ยอมให้คนไทยฆ่ากัน อย่างไรก็ตามได้มอบให้คณะกรรมการฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา ไปทำการศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำวินิจฉัยส่วนบุคคลมาดูเพิ่มเติม เพื่อความรอบคอบด้วย ในส่วนของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่รอการลงมติในวาระ 3 ขณะนี้ถือว่ายังไม่ตกไปส่วนวิธีการถอนร่างฯ ต้องให้เจ้าของผู้เสนอญัตติทั้งหมด ถอนในห้องประชุมก็จะสามารถเริ่มการแก้ไขฉบับใหม่ได้ทันที
ผู้สื่อข่าวถามว่าการตัดสินใจของพรรคการเมืองต้องรอฟัง “คนทางไกล” หรือไม่ นายสมศักดิ์ ตอบว่า เป็นการกล่าวหากัน เพราะสิ่งที่หารือก็ต้องหารือด้วยเหตุด้วยผล คงไม่มีใบสั่งอะไร
เมื่อถามว่า ล่าสุดทางคณะนิติราษฎร์ เตรียมเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยุบศาลรัฐธรรมนูญ นายสมศักดิ์ ตอบว่าเป็นการมองต่างมุม และเป็นความเห็นที่แสดงได้ตามสิทธิ ในระบอบประชาธิปไตย ในฐานะที่ตนเป็นประธานรัฐสภาไม่ขอออกความเห็นใดๆ เกี่ยวกับผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นการเข้ามาแทรกแซงกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่
ส่วนความคืบหน้าในข้อเสนอให้ ถอนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ทั้ง 4 ฉบับ ออกไปจากระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือบุคคล ที่สามารถคุยได้ และมีความเห็นในทางเดียวกัน ซึ่งแนวโน้มเป็นไปในแนวทางที่ดี แต่ถึงแม้เจ้าของร่างจะไม่ถอนร่างออกไป แต่เมื่อมาโหวตในสภาผู้แทนราษฎร ถ้าเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ร่างก็จะตกไปเอง
...