ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ มั่นใจ ชนะแน่ ชูไม้เด็ด ม.291 ให้อำนาจประธานสภาฯ สามารถประกาศให้ร่างแก้ รธน.เป็นกฎหมายได้ เป็นการลดพระราชอำนาจ เข้าข่ายล้มการปกครอง ตาม ม.68…
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายวันธงชัย ชำนาญกิจ และนายสุวัฒน์ อภัยภัค ในฐานะผู้ร้อง ได้ร่วมกันหารือถึงการทำคำแถลงปิดคดี โดยนายวิรัตน์ กล่าวว่า ศาลกำหนดไว้ 4 ประเด็น คือ 1.ผู้ร้องมีอำนาจในการฟ้องตามมาตรา 68 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ประเด็นนี้เรามั่นใจว่ามีอำนาจ เพราะถ้าไม่มีศาลคงยกคำฟ้องไปตั้งแต่ต้นแล้ว และเป็นสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่สามารถร้องตรงต่อศาลได้ ตรงกับที่ นายสุรพล นิติไกรพจน์ ยืนยันไว้กับศาล
2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำได้หรือไม่นั้น ประเด็นนี้ชัดเจนในระหว่างการซักพยานฝ่ายผู้ถูกร้องคนหนึ่ง ที่ประธานศาลได้ระบุแล้วว่า ฝ่ายผู้ถูกร้องเองก็ยอมรับแล้วว่า เป็นการกระทำใหม่ทั้งฉบับ จึงแสดงว่าเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 แน่นอน เพราะมาตรา 291 ฉบับปัจจุบันกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นตอน ในการแก้ไขให้ดำเนินการตาม (1)-(7)เท่านั้น โดยให้แก้ไขเป็นรายประเด็น หรือรายมาตรา และแก้ไขโดยสมาชิกรัฐสภา อีกทั้งไม่มีหลักเกณฑ์ใดจะรับประกันว่า ส.ส.ร.ที่ตั้งขึ้นจะแก้ไข อะไร อย่างไร อำนาจศาล หรือองค์กรอิสระในการตรวจสอบจะมีต่อไปหรือไม่มีหลักประกัน
“สุวัฒน์”ย้ำแพ้-ชนะอยู่ที่ประเด็น 3 ชี้ลดพระราชอำนาจ
จากนั้น นายสุวัฒน์ อภัยภัค กล่าวเสริมว่า ในประเด็นที่ 3.ศาลกำหนดประเด็นว่าการแก้ไขมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญปี 50 หรือไม่ หรือได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง ที่มิได้มาตามรัฐธรรมนูญนี้นั้น ประเด็นนี้แยกเป็น 2 เรื่องคือ 1.การล้มล้างการปกครองหรือไม่ เป็นเรื่องในอนาคต แต่เมื่อผนวกกับเหตุการณ์พฤติการณ์ของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เป็นแกนนำ นปช. รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าพระมหากษัตริย์จะต้องปฏิญาณตนในการรับตำแหน่งต่อรัฐสภา หรือการคัดเลือกตุลาการ ประธานศาลให้เป็นอำนาจของรัฐสภา ชัดเจนว่าเป็นการล้มล้าง และเราก็ได้ซักความในชั้นไต่สวนว่า การแก้ไขมาตรา 291 แล้วกลับเป็นการเพิ่มอำนาจให้ประธานสภาฯ เลือก ส.ส.ร.เองได้ 22 คน ตัดทอนพระราชอำนาจ กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อครบ 150 วัน ให้อำนาจประธานรัฐสภาประกาศบังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติได้ โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 150 และมาตรา 151 ประเด็นนี้เป็นหัวใจของการต่อสู้ จะแพ้หรือชนะอยู่ที่ประเด็นนี้ ซึ่งเรามั่นใจทั้ง 3 ประเด็นที่กล่าวมา โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงประเด็นที่ 4 ที่ระบุในคำขอท้ายฟ้องว่า ส.ส. ส.ว. รวม 416 คนที่แก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีผลตามมา ซึ่งตามมาตรา 68 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีสิทธิสั่งยุบพรรคได้ และผู้บริหารพรรคนั้นต้องถูกเว้นวรรค
“กรณีนี้เขาต่อสู้ว่า ไม่แตะหมวด 2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้แสดงว่าการไม่แตะไม่ได้ลดพระราชอำนาจ เพราะในรัฐธรรมนูญปี 50 มีพระราชอำนาจกระจายอยู่ทั่วทั้งรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา ส่วนตัวจึงมั่นใจว่า ประเด็นนี้ค่อนข้างขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะเป็นการฉีกทั้งฉบับ” นายสุวัฒน์ กล่าว
“ถาวร” ชี้ ข้อ 4 มีพฤติการณ์สร้างอำนาจใหม่
ด้านนายถาวร กล่าวว่า เมื่อดูพฤติการณ์ขอให้จับตามองบุคคลเหล่านี้คือ 1.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 2.นายสุนัย จุลพงษธร ที่ไปพูดในสถานทูตไทยในต่างประเทศหมิ่นเหม่จาบจ้วงสถาบันว่า พฤติกรรมเหล่านี้ สอดคล้องกับการปราศรัยบนเวทีเสื้อแดง มีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครอง 3.พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย 4.นายใจ อึ้งภากรณ์ 5.นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน 6.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 7.นายจตุพร พรหมพันธุ์ 8.นายก่อแก้ว พิกุลทอง 9.นายจักรภพ เพ็ญแข 10.นายสุรชัย แซ่ด่าน 11.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ 12.นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ซึ่งล้วนมีพฤติการณ์สะสมแสดงให้เห็นเป็นกระบวนการ โดยแบ่งหน้าที่กันทำ หรือร่วมกันทำเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
ในอดีต นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เคยสอบสวนและชี้มูลในคดีผังล้มเจ้า แต่วันนี้การเมืองเปลี่ยน นายธาริตเปลี่ยนสี แต่ข้อเท็จจริงต่างๆ ยังคงอยู่ คณะผู้ร้องจึงได้สรุปข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นคลิป บันทึกภาพและเสียง พร้อมถอดคำปราศรัยส่งศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงคลิปเสียงของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อแสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ บงการการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึง พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อเปิดโอกาสให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมามีอำนาจ โดยการล้างผิด ซึ่งก็คือการได้อำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของคำแถลงปิดคดี โดยนายวิรัตน์ กล่าวเสริมว่า คณะผู้ร้องมั่นใจว่าชนะทั้ง 4 ประเด็น.
...