ศาลทหารยกฟ้องคดี “คาร์บอมบ์ทักษิณ” ตัดสินโทษคุก 6 ปี ปรับ 4 พันบาทโทษฐานครอบครอง-เคลื่อนย้ายวัตถุระเบิด เครื่องยุทธภัณฑ์ ขณะที่ลดโทษ “รท.ธวัชชัย” เหตุให้การเป็นประโยชน์...
วันนี้(19 ส.ค.)เวลา 12.00 น.ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ องค์คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีดำที่ 35/50 คดีร่วมกันลอบวางระเบิดสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ที่อัยการศาลทหารกรุงเทพ เป็นผู้ส่งสำนวนสั่งฟ้อง โดยมี 3 ผู้ต้องหา คือ จำเลยที่ 1 ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ นายทหารสารบรรณที่รับผิดชอบงานในภาคใต้ จำเลยที่ 2 พ.อ.มนัส สุขประเสริฐ นายทหารรักษาความปลอดภัยผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) และจำเลยที่ 3 พ.อ.สุรพล สุประดิษฐ์ หรือ เสธ.ตี๋ นายทหารแผนกการเงินกอ.รมน. ได้เข้าร่วมฟังการอ่านคำพิพากษาคดี
จำเลยทั้ง 3 ตกเป็นผู้ต้องหาใน 6 ข้อหา คือ 1.ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 2.ร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานของรัฐ 3.ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 4.ร่วมกันมียุทธภัณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับ อนุญาต 5.ร่วมกันปลอมแปลงและใช้เอกสารทางราชการ และ 6.ซ่องโจรจากกรณีที่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549 หน่วยรักษาความปลอดภัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ พบรถเก๋งยี่ห้อแดวู สีบรอนซ์เงินทะเบียน ฐฉ-3085 กทม. จอดอยู่บริเวณข้างสะพานข้ามแยกบางพลัด ซึ่งเป็นเส้นทางที่ขบวนรถของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องผ่านจากบ้านพักไปทำงาน หน่วย รปภ.จึงประสานกับหน่วยอรินทราช 191 และตำรวจท้องที่เฝ้าดู และไม่นานจากนั้น พบชายคนหนึ่งเดินลิ่วๆมาขึ้นรถและขับออกจากจุด ตำรวจได้เข้าจับกุมและตรวจค้นรถยนต์คันดังกล่าว พบระเบิดทีเอ็นทีและซีโฟร์ ผูกติดกันไว้ ที่กระโปรงท้ายมีถังแกลลอนน้ำมันเครื่องสีเขียวและสีดำขนาด 5 ลิตรบรรจุน้ำมันเบนซินผสมปุ๋ยยูเรียจำนวน 7 แกลลอน และที่วางเท้าอีก 6 แกลลอน รวมทั้งยังพบแผงวงจรที่เบรกมือด้วย
โดยคณะตุลาการอ่านคำพิพากษาระบุว่า จากคำให้การของพยานสรุปว่า จำเลยทั้งสามได้บังอาจนำวัตถุระเบิดมาประกอบเป็นระเบิดแสวงเครื่องติดในรถยนต์ และมีการเชื่อมต่อระบบวงจรครบถ้วน ซึ่งสามารถที่จะระเบิดสังหารบุคคลหรือทำอันตรายให้แก่บุคคลอื่นถึงแก่ความตายได้ โดยใช้คลื่นวิทยุส่งสัญญาณเป็นเครื่องจุดวัตถุระเบิด โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนการเงินให้จำเลยที่ 2 จัดหาและประกอบวัตถุระเบิด และให้จำเลยที่ 1 ขับรถออกจาก กอ.รมน. ไปยังบริเวณใต้สะพานแยกบางพลัดในวันที่ 24 ส.ค. 2549 ซึ่งจำเลยทั้งสามได้กระทำการโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพราะไม่พอใจจากการะทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่มีเหตุขัดข้องที่เครื่องส่งสัญญาณจึงไม่อาจจุดระเบิดได้
ทั้งนี้จากคำให้การ จ.ส.อ.ชาคริต จันทระ พลขับของ พ.อ.สุรพล จำเลยที่ 3 ที่มีพฤติกรรมร่วมก่อเหตุ แต่ไม่ใช่สาระสำคัญของคดี ทำให้พนักงานสอบสวนกันไว้เป็นพยานได้เบิกความว่า ตนเป็นนายทหารสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ช่วยราชการ กอ.รมน. ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 3 ให้ไปรับรถยนต์แดวูที่เต้นท์รถคาร์แล็ค และได้นำสติกเกอร์รูปหมูติดไว้เป็นสัญลักษณ์ จากนั้นได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปจอดที่ริมรั้ว กอ.รมน. โดยจำเลยที่ 3 ได้บอก จ.ส.อ. ชาคริตว่า นายใหญ่เอาจริง โดยจะมีการลอบวางระเบิดร่วมกับจำเลยที่ 2
ทั้งนี้ ยังรับทราบจากจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบวัตถุระเบิด พร้อมได้ยินว่าจำเลยที่ 2 เกือบตายจากการประกอบวัตถุระเบิด โดย จ.ส.อ.ชาคริต ให้การว่า จำเลยที่ 3 ยังเคยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยาของจำเลยที่ 2 จำนวน 4 หมื่นบาท และ จ.ส.อ.ชาคริต เคยขับรถพาจำเลยที่ 3 ออกจากสำนักงานไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อไปที่สนามกอล์ฟ ทบ. โดยพยานยังได้ยินจำเลย 3 พูดกับจำเลยที่ 2 ว่านายใหญ่มาแล้ว และเมื่อไปถึงก็ได้พบว่าเป็น พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่อยู่ในรถเบ๊นซ์สีดำ โดยมี พล.ต.ไพโรจน์ ธีรภาพ รออยู่ที่สนามกอล์ฟ ทบ. เพื่อร่วมกันวางแผนโดยวันที่ 9 สิงหาคมนี้ เวลา 12.00 น.จำเลยที่ 3 ให้พยานขับรถยนต์กระบะนิสสันไปจอดที่ข้าง รร.เสธ.ทอ. เพื่อรอให้จำเลยที่ 1 ขับรถแดวูมาจอดแทน โดยให้รอถึงเวลา 16.00 น. จากนั้นจำเลยที่ 3 ได้นำทางให้พยานนำรถยนต์มาจอดในที่ดังกล่าว
จนกระทั่งเกือบเวลา 16.00 มี สห.เข้ามาขอตรวจสอบ ซึ่งพยานอ้างว่ามาติดต่อราชการ แต่ตำรวจสันติบาลได้ตรวจสอบข้อมูลของรถยนต์คันดังกล่าว และได้รับแจ้งว่าจะมีการลอบสังหารผู้นำ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรับทราบมาก่อนหน้าว่าจะมีการลอบสังหาร บุคคลสำคัญ และในวันที่ 24 สิงหาคม 2549 วันเกิดเหตุ พบพยานหลักฐานปรากฎว่า รถที่ใช้ในการประกอบวัตถุระเบิดมีการนำมาจอดทิ้งไว้ภายใน กอ.รมน. ประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนวันเกิดเหตุ โดยมีเจ้าหน้าที่ถ่ายบันทึกภาพได้ว่ารถจอดข้างริมรั้ว กอ.รมน. และภายใน กอ.รมน. ไม่มีบุคคลใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรถที่ใช้ในการบรรทุกวัตถุระเบิด นอกจากจำเลยทั้ง 3 คน
และเช้าวันที่เกิดเหตุพบว่า จำเลยที่ 1 ได้มีการนำรถเข้าออก กอ.รมน. จริง แม้เห็นเลขทะเบียนไม่ชัดเจน แต่เป็นลักษณะรูปแบบประเภทรถลักษณะเดียวกัน และมีการขับรถมาบริเวณใต้สะพานบางพลัดโดย จ.ส.อ.ชาคริต ให้การว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ถูกจับจำเลยที่ 3 ได้โทรศัพท์มาบอก จ.ส.อ.ชาคริต ว่า จะพาหลบหนี แต่พบว่ามีชายสองคนขับรถจักรยานยนต์มาที่บริเวณมุมโต๊ะที่พยานพักอาศัย ทำให้พยานเกิดความหวาดกลัว พยานจึงได้โทรไปหานายสมยศ จันทะ ซึ่งเป็นญาติที่เป็นทนายความ เพื่อให้ดำเนินการติดต่อเพื่อขอมอบตัวต่อไป
ซึ่ง คณะตุลาการพินิจแล้วว่า จากการที่ จ.ส.อ.ชาคริต เบิกความให้ร้ายจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคลที่มีบุญคุณ เพราะจะเป็นผู้หลบหนี ซึ่งเชื่อได้ว่า จ.ส.อ.ชาคริต ให้การที่น่าจะเป็นข้อเท็จจริง เมื่อพิจารณาเอกสารประกอบพร้อมคำยืนยันของจำเลยที่ 1 ที่มีใจความสำคัญว่า พอรู้ว่ามีระเบิดที่มีอานุภาพรุนแรง หากเกิดระเบิดจริงจะเสียใจมาก เพราะจะมีตราบาปไปตลอดชีวิต และจำเลยที่ 1 ยอมสำนึกผิด เพราะเพิ่งทราบว่าระเบิดรุนแรงขนาดไหน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 พาดพิงจำเลย 2 และจำเลยที่ 3 จากพยานหลักฐานศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันกระทำความผิดใน 3 ข้อหา 1.ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พรบ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียบเคียง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 236 และมาตรา 63 โดยลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี
ข้อหาที่ 2 ร่วมกันเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดและพาไปในเขตเมืองโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งมีโทษปรับ 4,000 บาท และข้อหาที่ 3 คือ ร่วมกันมียุทธภัณฑ์ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ลงโทษจำคุก 2 ปี รวมโทษทุกกระทงจำคุกจำเลยทั้ง 3 คน 6 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ให้การเป็นประโยชน์จึงให้ลดโทษเหลือ 4 ปี 6 เดือน ปรับ 3,000 บาท ส่วนข้อหาพยายามฆ่า พ.ต.ท.ทักษิณ จากคำให้การของพยานไม่อาจมีหลักฐานบ่งชี้ได้ จึงไม่สามารถรับการลงโทษได้ จึงให้ยกฟ้องข้อหานี้ และข้อหาอื่น
องค์คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพ ได้ใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยหลังรับฟังคำพิพากษาจำเลยทั้ง 3 มีสีหน้านิ่งเรียบเฉย ทั้งนี้ นายวันชัย ขันสุวรณ ทนายความจำเลยได้ยื่นหลักทรัพย์รายละ 8 แสนบาท เพื่อขอประกันตัว โดยจำเลยทั้ง 3 จะยื่นขออุทธรณ์คำตัดสินภายใน 15 วันตามกฎหมาย.
...