โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ขย่มซ้ำทุจริตเงินเยียวยาน้ำท่วม 54 เหตุนายกฯ ใช้การตลาดนำการเมืองให้ครอบครัวละ 3 หมื่น ชี้ทัวร์สร้างภาพทดสอบระบบ แต่ไม่รายงานผล ประจานแผนงานต่างจากข้อเท็จจริงเพียบ...
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2555 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมาตรการเยียวยาเงินน้ำท่วมของปี 2554 ว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยเตือนแล้วว่ามีกระบวนการทุจริตกินหัวคิวของชาวบ้าน แต่ไม่มีการออกมาแก้ไขปัญหา จนสุดท้ายเมื่อชาวบ้านออกมาก่อม็อบปิดถนนเพราะทนไม่ไหว ที่บางบ้านได้เงินเยียวยาแค่ 250-300 บาทเท่านั้น ทั้งหมดเพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ได้สร้างภาพใช้การตลาดนำการเมือง หากยังจำกันได้เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 54 หลังน้ำท่วม น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เอาเงินไปให้ชาวบ้านครัวเรือนละ 30,000 บาท โดยมีการตีข่าวสร้างภาพ ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าทุกครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมจะได้รับการเยียวยาครัวเรือนละ 30,000 บาท ซึ่งนายกฯ ยืนยันเองว่าจะให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังมีข่าวม็อบเรียกร้องเงินเยียวยา
นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า ตนจึงขอฟื้นความจำหลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งสัญญาณดังกล่าววันที่ 21 พ.ค. นายยศวริศ ชูกล่อง หรือ "เจ๋ง ดอกจิก" เลขานุการ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า จะช่วยเหลือดำเนินการเยียวยาให้เงินชดเชยที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ให้เสร็จภายใน 2 วัน วันที่ 28 พ.ค. 2555 นายยงยุทธสั่งตั้งคณะกรรมการสำรวจความเสียหาย และบอกว่าให้ชาวบ้านรับเงินไปก่อนบางส่วน หากเสียหายเพิ่มเติมจะจ่ายให้ภายหลัง ขณะที่ 30 พ.ค. 55 นายกฯ เรียกประชุมผู้ว่าฯ สั่งการว่าอย่าให้มีม็อบ วันที่ 11 มิ.ย. 54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่าจะดูแลพ่อค้าแม่ค้าตลาดรังสิตที่ถูกน้ำท่วมให้ได้รับเงินรายละ 20,000 บาท เช่นเดียวกับ นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าฯ นนทบุรี ก็รับปากว่าจะชดเชยเยียวยาน้ำท่วมเท่ากันครัวเรือนละ 20,000 บาท พอชาวบ้านไม่ได้ก็ต้องมาตามทวงปิดถนน ผลที่ได้รับคือ วันที่ 8 มิ.ย. 55 ตำรวจ สภ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จับแกนนำปิดถนน 3 คน ที่มาเรียกร้องสิทธิรับค่าชดเชย ส่งฟ้องศาล และถูกศาลสั่งจำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท ขณะที่ม็อบเผาบ้านเผาเมืองไม่ต้องติดคุก แถมได้เงิน 7.75 ล้านบาท และแกนนำยังได้เป็น รมต.อีก
นายชวนนท์ ยังกล่าวถึงการทัวร์นกขมิ้นของนายกฯ เพื่อตรวจสอบระบบการป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ ว่า ตนยังเป็นห่วง เพราะข้อเรียกร้องของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ กับการดำเนินการตามข้อเท็จจริงของรัฐบาล ยังมีความแตกต่างกันมาก คือ 1. การจ่ายเงินซ่อมแซมบ้านเรือนทุกพื้นที่ ประสบปัญหาการถูกหักหัวคิว เช่นเดียวกับเงินเยียวยา 5,000 บาท จนชาวบ้านต้องปิดถนน 2. การก่อสร้างประตูระบายน้ำขุดลอกคูคลองหลายแห่งมีความล่าช้า และเพิ่งทำสัญญาว่าจ้าง เช่น ที่บึงบอระเพ็ด มีการสร้างผิดแบบ และคืบหน้าไปเพียง 19% ยังไม่รวมพื้นที่อื่น 3. ระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประตูระบายน้ำในจุดต่างๆ เพิ่งจะมีการทดสอบที่ จ.ชัยนาท เป็นผักชีโรยหน้า เพราะนายกฯ ลงไปตรวจ แต่ไม่มีการรายงานผลว่าเป็นอย่างไร 4. ที่มีการประกาศว่าจะทำระบบพยากรณ์ เตือนภัย และแบบจำลองสถานการณ์น้ำท่วม แต่ข้อเท็จจริงพบว่ามีหมู่บ้านเสี่ยงภัยกว่า 3,000 แห่ง แต่กลับมีระบบเตือนภัยแค่ 2,000 แห่ง ที่เหลือกำลังของบประมาณจัดทำ ซึ่งไม่รู้จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ 5. ความชัดเจนของพื้นที่รับน้ำและหลักเกณฑ์ในการเยียวยา ที่ปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์และพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งพื้นที่นอกเขตชลประทานก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยด้วย
นายชวนนท์ กล่าวอีกว่า 6. ที่ระบุว่าจะสรุปโครงการป้องกันน้ำท่วมในระยะกลางและระยะยาวในแต่ละพื้นที่ แต่ปรากฏว่า ปัจจุบันโครงการระยะยาวยังอยู่ระหว่างการประมูล เพราะรัฐบาลล่าช้า ไม่มีการใช้จ่ายเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ซ้ำยังหาผู้รับเหมาไม่ได้ 7. ตามแผนป้องกันน้ำท่วมของรัฐ ระบุให้ตั้งหน่วยงานประสานกับกลุ่มจิตอาสาเพื่อแจกจ่ายถุงยังชีพ แต่ข้อเท็จจริงกลับมอบหมายให้จังหวัดแป็นผู้ทำถุงยังชีพ ซึ่งคาดว่าที่สุดแล้วก็จะมีปัญหาการทุจริตตามมาซ้ำรอยกับปีที่แล้ว 8. ระบบการอพยพคนออกนอกพื้นที่ประสบภัยเพิ่งจะเริ่มมีการทดสอบระบบที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. เพื่อสร้างภาพ ผักชีโรยหน้า เพราะนายกฯ ไปทัวร์นกขมิ้น แต่กลับไม่มีรายงานผลการทดสอบใดๆ ที่จะสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านและผู้ประกอบการ 9. การป้องกันในภาคอุตสาหกรรม เพิ่งจะมีการสร้างเขื่อนป้องกันนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในปลายเดือน มิ.ย. ขณะที่การปรับปรุงยกพื้นถนนเข้า-ออกนิคมยังไม่มีการเริ่มก่อสร้าง และ 10. งบประมาณที่ใช้จ่ายในโครงการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลที่ใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ระบุให้ทำรายละเอียดของการใช้งบประมาณ ปัจจุบันพบว่าเพิ่งอนุมัติงบใช้จ่ายไป 50,000 ล้านบาท และกำลังทำทีโออาร์กับเอกชนอีก 3 แสนล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างปี 56 นอกจากนี้ ยังไม่มีการทำรายละเอียดของการใช้งบของกระทรวง ทบวง และกรมต่างๆ.
...