"นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม" ส.ส.พิษณุโลก ปชป.ได้ที เย้ย "ฟ้ามีตา" ทำญัตติ ร่างแก้ รธน.วาระ 3 ตก เพราะคะแนนไม่ถึง 323 เสียง ด้าน "บุญยอด" ตั้งข้อสังเกตที่ตกเพราะมี ส.ว.เลี่ยงไม่เข้าประชุม ขณะที่ 7 ส.ส.ภูมิใจไทย แปรพักตร์...
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่รัฐสภา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก และนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงหลังการพยายามโหวตยกเว้นข้อบังคับการประชุม โดย นพ.วรงค์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยยอมรับมติที่ประชุมรัฐสภา และยุติการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เพื่อรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก่อน ซึ่งการลงมติในครั้งนี้ ประธานในที่ประชุมใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 127 วรรค 4 ที่ระบุว่า รัฐสภาจะมีมติให้พิจารณาเรื่องอื่นจะต้องใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ จำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มี่อยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งปรากฏว่าที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับญัตติของ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะมุกดาธนพงษ์ ส.ว.มุกดาหาร ด้วยคะแนน 318 ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เนื่องจากมีสมาชิกรัฐสภา 644 คน ต้องใช้เสียง 323 จึงขอเรียกร้องให้เคารพมติของรัฐสภา และอยากบอกว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้ถือว่า “ฟ้ามีตา”
ด้านนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบการลงคะแนน ในระบบคอมพิวเตอร์ พบว่า ในช่วงที่มีการตรวจสอบองค์ประชุมมีผู้เข้าร่วมประชุม 323 คน ซึ่งหมายถึง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้กดบัตรแสดงตนด้วย ส่วนคะแนนที่สอบถามเกี่ยวกับการลงมติในญัตตินั้น พบว่า มีผู้เข้าร่วมประชุม 325 คน กดเห็นด้วย 318 คน ไม่เห็นด้วย 2 คน งดออกเสียง 2 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 3 คน โดยผู้ที่งดออกเสียงคือ พ.ต.อ.สนธยา แสงเภา ส.ว.สรรหา และนายสมศักดิ์
ขณะที่ผู้ไม่ลงคะแนน 3 คน คือ นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ นายวรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี นางเทียบจุฑา ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี ซึ่งนางเทียบจุฑา คงต้องไปชี้แจงกับพรรคเพื่อไทย ว่า เหตุใดจึงลงคะแนนเช่นนี้ สำหรับ ส.ว.ทั้งสองท่านต้องขอขอบคุณ ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีสองคนคือ นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ต้องขอขอบคุณเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่ลงคะแนนเห็นด้วยที่น่าสนใจคือ มี 7 ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย คือ น.ส.นันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท นายเรืองศักดิ์ งามสมภาค นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล นายวิสิษฐ์ พิทยากร นางประนอม โพธิ์คำ นายมนู บุญประเสริฐ และนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ซึ่งถือว่ากลุ่ม ส.ส.ทั้ง 7 คน ไปอยู่กับรัฐบาลแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ว. ซึ่งมีจำนวน 146 คนที่มีสิทธิลงคะแนน แต่มาร่วมลงมติเพียง 46 คนเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าตัวแปรสำคัญที่ทำให้ญัตตินี้ตกไปเป็นเพราะ ส.ว.ไม่มาร่วมประชุม ซึ่งเป็นเพราะอาจคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเองและไม่อยากเดือดร้อน เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาภายหลัง.
...