นายวีระ มุสิกพงศ์

พระมหาโชว์ ทัสสนีโย  นำคณะสงฆ์กลุ่มสังฆสามัคคี 2,000 รูป ร่วมถวายฎีกาช่วย"ทักษิณ" ยันไม่ต้องขอความเห็น มส. อ้างไม่ขัดพระธรรมวินัย-กฎหมาย รวมทั้งไม่ก้าวก่ายการเมือง "วีระ" เผย อดีตนายกฯโฟนอิน 10โมง  

เมื่อ เวลา 13.30 น. วันที่ 15 ส.ค. ที่บริษัทเพื่อนพ้องน้องพี่ ชั้น6 ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว กลุ่มพระสงฆ์สังฆสามัคคี นำโดย พระมหาโชว์ ทัสสนีโย รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมพระศาสนาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) พร้อมด้วยนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) แถลงว่า คณะสงฆ์กลุ่มสังฆสามัคคี ที่มีสมาชิกทั่วประเทศอยู่ประมาณ 2,000 รูป จะร่วมทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมกับกลุ่มนปช. ในวันที่ 17 ส.ค. นี้ เพราะบ้านเมืองขณะนี้ อยู่ในช่วงตกทุกข์ได้ยาก สังคมแตกแยก เศรษฐกิจยำแย่ การเมืองการปกครองยากสามัคคี  เมื่อเห็นประชาชนมีความทุกข์เดือดร้อนไปทั่ว กลุ่มสังฆสามัคคีในฐานะที่เป็นตัวแทนคณะสงฆ์เห็นว่า เป็นบทบาทของสงฆ์ต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา หาทางออกให้เกิดความสามัคคีในบ้านเมือง เช่นกับบทบาทของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล จึงถือโอกาสถวายฎีการ้องทุกข์ร่วมกับคนเสื้อแดง เพราะต้องการเห็นบ้านเมืองมีความสามัคคีและสงบสุข เพื่อนำ  อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมา เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ แต่ที่ถูกดำเนินคดีและพิพากษาจำคุก ด้วยกระบวนการยุติธรรม บิดเบี้ยว  การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ของกลุ่มสังฆสามัคคี ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นใดๆ จากมหาเถรสมาคม เพราะถือเป็นมติของคณะสงฆ์ในกลุ่ม การร่วมถวายฎีการ้องทุกข์นี้ไม่ได้ขัดต่อพระธรรมวินัย ไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย หรือทำให้คณะสงฆ์เสื่อมเสีย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่ได้ก้าวก่ายการเมือง

ด้าน นายวีระ กล่าวว่า การยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้  พ.ต.ท.ทักษิณ  ของกลุ่มคนเสื้อแดง  ในวันที่ 17 ส.ค. จะเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนเสื้อแดงทั่วทุกสารทิศที่ท้องสนามหลวง และในเวลา 10.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณ จะโฟนอินมาทักทาย และขอบคุณประชาชนที่ได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ  จะไม่มีการพูดเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง  สำหรับตัวแทนคนเสื้อแดงที่จะเข้าไปยื่นฎีกาที่ศาลาลูกขุน ในพระบรมมหาราชวัง จะมีการเพิ่มจาก 8 คน เป็น 15 คน เนื่องจากมีพระสงฆ์ร่วมถวายฎีกาด้วย โดยแบ่งเป็นตัวแทนคณะสงฆ์ 5 รูป และแกนนำ นปช. 10 คน โดยไม่มีคนนอกที่เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เข้าร่วมเช่นที่เป็นข่าวออกมา โดยเฉพาะในระดับองคมนตรี เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่นปช.จะเชิญมาร่วมถวายฎีกา ส่วนผู้ใหญ่คนอื่นๆ  เป็นนายทหารและนายตำรวจใหญ่นั้น ยอมรับว่าได้เข้าไปคุยจริง แต่ทุกคนต่างปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ไม่เหมาะสมที่จะเข้าไปเพราะไม่ได้เป็นผู้ทำงานเคลื่อนไหวการเมืองตั้งแต่ต้น ส่วนกรณี 29 ปลัดกระทรวงออกแถลงการณ์คัดค้านการถวายฎีกานั้น ตนเข้าใจว่า คงจะถูกบีบบังคับจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงให้ออกมาแสดงความ เห็นคัดค้านการร้องทุกข์ของประชาชน คนเป็นข้าราชการะดับสูงควรที่มีศักดิ์ศรีของข้าราชการประจำ ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน ไม่ใช่ออกมากระทำการขัดขวางการถวายฎีการ้องทุกข์ของประชาชนที่มีความทุกข์ ร้อนเช่นนี้

...