กมธ.ต่างประเทศ ถกคดี ม.112 เทียบสนธิ-อากง มาตรฐานต่างกัน รองเลขาศาลฯ อ้างฟันตามดุลพินิจ...

ที่อาคารรัฐสภา 2 มีการประชุมคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร มีนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน เพื่อพิจารณากรณีการเสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพคุณ หรืออากง ระหว่างถูกคุมขังในราชทัณฑ์ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง อาทิ นายสรสิทธิ์ จงเจริญ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการศาลยุติธรรม นายศุภวัฒน์ ทักษิณ ทนายความ นปช.นายอานนท์ นำภา ทนายความของนายอำพล นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยานายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ โดยนายสุนัยกล่าวว่า จะไม่มีการวิจารณ์คำพิพากษาของศาล และไม่เกี่ยวข้องกับการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่มาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นว่าจะหาทางออกอย่างไร เพราะคนที่ไม่พอใจในคำสั่งศาลไม่ใช่คู่กรณีของศาล แต่เป็นประชาชนทั่วไป เพราะหลายคดีประชาชนก็ยังสงสัย เช่น กรณีปิดสนามบินสุวรรณภูมิที่นายการุณ ใสงาม อดีต ส.ว.บุรีรัมย์ แกนนำกลุ่มพันธมิตร ไม่ยอมมอบตัวกับตำรวจและไม่ยอมออกจากรถ สอบสวนเสร็จก็ปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกันตัว ทำให้ประชาชนเข้าใจกันไปหลากหลาย

ด้านนายสราวุธ กล่าวว่า ศาลก็ไม่สบายใจในสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างคดีของอากงเคยให้ประกันตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2553 ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการประกันตัวอีก การจะปล่อยตัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล การประกันตัวในคดีตามมาตรา 112 ก็ได้รับการประกันตัวหลายคน เช่น นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ผ่านมาคนที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมีร้อยละ 93 ที่ไม่ปล่อยร้อยละ 7 กรณีอากงมีการขอประกันตัวแต่ไม่ได้ระบุว่าเจ็บปวดมากน้อยเพียงใด เป็นมะเร็งระยะใด เพราะมะเร็งระยะที่ 1 สามารถรักษาหายได้ ซึ่งกรณีอากง ศาลเชื่อว่าจะมีการหลบหนี ทั้งนี้ศาลไม่ได้ตัดสินตามสีเสื้อ ตนก็อยากให้มีการปล่อยตัวนักโทษชั่วคราว แต่เกรงว่าจะหลบหนี อย่างนักโทษต่างประเทศก็ชอบหลบหนี มีแต่ช่วงแรกเท่านั้นที่มาพบศาล

...

สำหรับคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ไม่ต้องการเดินทางไปสืบพยานต่างจังหวัด ตนขอเสนอแนะว่าเราอาจใช้เทคโนโลยี viedo conference ซึ่งขึ้นอยู่กับอัยการ โจทก์ จำเลย และทนายด้วย นายอานนท์กล่าวว่า กรณีอากงหลังถูกจำคุกก็ไม่สามารถนำตัวมาพบแพทย์เพื่อตรวจว่าเป็นมะเร็งขั้นไหนแล้ว จึงไม่มีเอกสารใหม่แสดงว่ามีการลุกลามของมะเร็งไปประกอบการตัดสินของศาล ทางทนายมีแต่เอกสารเรื่องโรคมะเร็งก่อนที่จะถูกจำคุก นี่เป็นปัญหาที่เราไม่มีเอกสารใหม่ไปให้ศาลได้ แต่มีการร้องขอให้กรมราชทัณฑ์ดูแลสุขภาพด้วย ขณะที่นายสรสิทธิ์กล่าวว่า ช่วงอากงไม่สบายทางกรมราชทัณฑ์ได้ให้หมอมาดูแล พบว่าเป็นมะเร็งตับในระยะลุกลาม ไม่ใช่ระยะสุดท้าย จึงได้นำมารักษาอาการ มีการทำ MRI สแกนบริเวณลำคอที่มีการระบุว่าเป็นมะเร็งช่องปาก แต่ก็ไม่พบว่ามีการลุกลามของมะเร็งเพิ่มขึ้น ต่อมาอากงบอกว่าปวดท้องจึงให้ยาแก้ปวดท้องไป 3 วัน แต่ปรากฏว่าอาการไม่ดีขึ้น ทางกรมราชทัณฑ์จึงส่งไปโรงพยาบาลภายนอกตามขั้นตอน

นายสุนัยกล่าวว่า กรณีอากงที่ทางศาลเชื่อว่าจะหลบหนี อยากทราบว่าหากคดีของนายการุณถึงศาล ศาลจะเชื่อว่ามีการหลบหนีหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการหลบหนีมาโดยตลอดจนตำรวจมาเจอตัวก็ยังไม่ยอม จนต้องล็อกตัวมา หรือกรณีศาลตัดสินคดีนายสนธิจำคุก 85 ปี ศาลก็ยังให้ประกันตัว ไม่ได้กลัวว่าจะหลบหนี ตรงนี้จะตอบคำถามกับประชาชนอย่างไร นอกจากนี้คดีของนายสมยศที่จะขอสละสิทธิ์การเดินทางไปสืบพยานในจังหวัดต่างๆ แต่อยากจะขอให้พยานมาเบิกความที่กรุงเทพฯ ศาลก็ไม่อนุญาต เราจะทำอย่างไร เพราะการเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ทำให้ผู้ต้องหาได้รับความทรมาน เพราะต้องนั่งรถไปเป็นระยะทางไกลๆ ขณะนี้ประชาชนที่ถูกตัดสินคดีและคดียังไม่สิ้นสุด ทำให้ครอบครัวผู้ถูกกล่าวหาเดือดร้อน กระทบสิทธิประชาชน จะนำปัญหาเหล่านี้หารือกับทางรัฐบาลว่าจะหาทางช่วยเหลือหรือชดเชยความเดือดร้อนอย่างไร และอยากเสนอให้ควบคุมผู้ต้องหาที่บ้านโดยใช้เทคโนโลยีผ่านดาวเทียม ให้เหมือนกับต่างประเทศ ซึ่งเรื่องอยู่ที่สำนักงานกิจการยุติธรรม คงบอกไม่ได้ว่าใช้เวลาเท่าใด

อย่างไรก็ตามในวันที่ 18 พ.ค.เวลา 09.00 น. จะเดินทางไปดูสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเชิงลึกต่อไป