สำนักงานคณะกรรมการ ก.พ.เคาะชงที่ประชุม ครม. 10 เม.ย. ทุ่มงบเพิ่ม 1.2 หมื่นล้าน เลื่อนขึ้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทไปอีก 2 ปี เริ่ม 1 ม.ค.57 แรกบรรจุสตาร์ต 15,000 บาท ส่วน พนง.ราชการขยับตามขึ้น 20, 30%...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 เม.ย.นี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ การปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ : การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชย ภายหลังจากที่มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2555 เห็นชอบให้ปรับเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษาของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในปีที่ 1 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2555 ให้ผู้มีคุณวุฒิตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปได้รับเงินเดือนแรกบรรจุ รวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 15,000 บาท และวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีได้รับการปรับรายได้เพิ่มขึ้นตามระดับวุฒิการศึกษาเช่นเดียวกัน รวมทั้ง การชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบ โดยให้มีผลใช้บังคับไปพร้อมกัน
โดย ครม.อนุมัติหลักการให้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการปรับปรุงค่าตอบแทนดัวกล่าว วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท และได้มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกับสำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาการปรับให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล โดยคำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจและสถานะการเงินการคลังของประเทศ และผลกระทบต่อการจ้างงานของเอกชน ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.พ.แล้วเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2555
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวทางดำเนินการที่ได้ปรับปรุงใหม่ ในส่วนของข้าราชการพลเรือนสามัญ กำหนดอัตราเงินเดือนแรกบุรรจุให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลในอีก 2 ปีถัดไป โดยให้อัตราเงินเดือนแรกบุรรจุขั้นต่ำของวุฒิปริญญาตรีในปีที่ 2 (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557) เท่ากับ 15,000 บาท ปีที่ 1 (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2556) เท่ากับ 13,300 บาท วุฒิ ปวส.ปีที่ 2 เท่ากับ 11,500 บาท ปีที่ 1 เท่ากับ 10,200 บาท (วุฒิ ปวส.คงความแตกต่างของเงินเดือนกับวุฒิปริญญาตรี) และวุฒิ ปวช. ปีที่ 2 เท่ากับ 9,400 บาท และปีที่ 1 เท่ากับ 8,300 บาท (วุฒิ ปวช.คงความแตกต่างของเงินเดือนกับวุฒิ ปวส.) และกำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุขั้นต่อของคุณวุฒิอื่นให้สอดคล้องกับอัตราความแตกต่างระหว่างคุณวุฒิต่างๆ ที่กำหนดไว้เดิม
โดยสรุปอัตราค่าตอบแทนแรกบรรจุเมื่อปรับใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 วุฒิ ปวช. 8,300 บาท ปวส. 10,200 บาท ปริญญาตรี 13,300 บาท ปริญญาโท 16,400 บาท ปริญญาเอก 20,000 บาท และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 วุฒิ ปวช. 9,400 บาท ปวส. 11,500 บาท ปริญญาตรี 15,000 บาท ปริญญาโท 17,500 บาท ปริญญาเอก 21,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนี้ ให้ปรับเงินเดือนชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบ 2 ครั้ง ให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับเงินเดือนชดเชยให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการในตำแหน่ง ระดับแรกบรรจุก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุที่ปรับใหม่ มีผลใช้บังคับ อย่างน้อย 10 ปี (มีอายุราชการตั้งแต่ 1 วันถึง 10 ปีโดยประมาณ) ส่วนข้าราชการประเภทอื่นและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท นำเสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบในรายละเอียดการของปรับในแนวทางเดียวกัน และนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติให้ใช้งบประมาณประจำปี 2556-2557 ก่อนดำเนินการบังคับใช้ต่อไป
คาดว่าจะใช้งบประมาณเพื่อการปรับเงินเดือนแรกบรรจุ และการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการทุกประเภทและเจ้าหน้าที่ของรัฐ สำหรับการดำเนินการในปีที่ 1 (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556) เพิ่มขึ้นประมาณ 5,010 ล้านบาท และสำหรับการดำเนินการในปีที่ 2 (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557) เพิ่มขึ้นประมาณ 7,135 ล้านบาท
นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) ยังได้เสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับค่าตอบแทนแรกบรรจุ และการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของพนักงานราชการ เพื่อปรับเงินเดือนแรกบรรจุของพนักงานราชการให้สอดคล้อง เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลด้วยเช่นกัน โดยนำบัญชีอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการพลเรือนสามัญเป็นฐานการคำนวณ กำหนดค่าตอบแทนแรกบรรจุพนักงานราชการกลุ่มทั่วไปบวกเพิ่มอีก 20% จากอัตราแรกบรรจุข้าราชการ ส่วนกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะให้บวกเพิ่ม 30% และปรับวุฒิการศึกษาอื่นๆ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ทั้งนี้ เสนอขอนุมัติงบประมาณดำเนินการปรับค่าตอบแทนแรกบรรจุ การชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของพนักงานราชการ และเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จำนวน 137,129 คน โดยต้องใช้งบฯ ปีงบประมาณ 2556-2557 รวมทั้งสิ้นจำนวน 6,634 ล้านบาท.
...