พิชิต ชื่นบาน

ทนายความอดีตนายกฯทักษิณ เผย "บวรศักดิ์-ธงทอง-เจิมศักดิ์" เคยยื่นถวายฎีกาเมื่อเดือน มิ.ย.ปี31แนะฝ่าย ที่เห็นแตกต่าง ควรจัดทำบันทึกถวายความเห็น  มากกว่าใช้วิธีการใดๆเพื่อระงับการทูลเกล้าฯ...  

นายพิชิต ชื่นบาน อดีตทนายความพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีที่ดินรัชดา  ออกแถลงการณ์ฉบับที่สอง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม โต้แย้งบทความ เรื่อง "การใช้สิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาตามกฎหมายและประเพณี"  ของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต  ว่า มีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนักการเมืองจากซีกรัฐบาล ได้ทำการโต้แย้งคัดค้านต่อการใช้สิทธิทูลเกล้าฯในลักษณะที่เป็นพฤติกรรม ข่มขู่ เพื่อหวังผลให้ผู้ดำเนินการยุติในเรื่องลงชื่อทูลเกล้าฯถวายฎีกา โดยวิธีการลดความน่าเชื่อถือของฎีกา พยายามขยายความบางประเด็นของสาระเกี่ยวกับกฎหมายและประเพณีไทย ชี้นำให้เห็นว่ามีจุดผิดพลาดในการเสนอเหตุผล ด้วยการแสดงความเห็นผ่านข้อมูลวรรณกรรมต่างๆ  ที่นำมาใช้อ้างอิง แต่แอบแฝงด้วยวาทกรรมในด้านต่างๆ   จากการตรวจสอบบทความ เรื่องการใช้สิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาตามกฎหมายและประเพณีของนายบวรศักดิ์ พบว่า การอ้างข้อกฎหมาย มีความคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในหลายประการ 

แถลงการณ์ระบุว่า ตัวอย่างประเพณีการยื่นทูลเกล้าฯถวายฎีกาที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของ ไทย ที่ประชาชนผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ระดับนักวิชาการของประเทศจำนวน 99 คนได้ทำเป็นแบบอย่างประเพณีไว้ คือ เหตุการณ์ยื่นฎีกาในเดือนมิ.ย.2531 ขณะนั้นพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อตรวจสอบรายชื่อพบว่า นายบวรศักดิ์ เป็นหนึ่งในนักวิชาการ ที่เป็นผู้ร่วมลงลายมือชื่อ นอกจากนี้ยังปรากฏรายชื่อของ นายธงทอง จันทรางศุ  นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เนื้อหาฎีกากล่าวถึง ความวุ่นวายสับสนทางการเมือง การแตกแยกความสามัคคีในหมู่ทหาร ข้าราชการและประชาชน เนื่องมาจากผู้นำทางการเมืองที่รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาล มิได้วางตนเป็นกลางอย่างแท้จริง แต่กระทำการแอบอิงสถาบันหลักของบ้านเมือง ปล่อยให้มีการนำกำลังทหารของชาติ ที่มีไว้เพื่อป้องกันและช่วยพัฒนาประเทศ มาแสดงพลังสนับสนุนสถานภาพทางการเมืองส่วนบุคคล จนทำให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก 

แถลงการณ์ระบุต่ออีกว่า เนื้อหาของฎีกาดังกล่าว จึงอยากถามนายบวรศักดิ์ ว่าฎีกาดังกล่าวเป็นฎีกาประเภทใด จะเป็นฎีกา การเมือง หรือ ฎีกาโกลาหล อย่างที่เรียกฎีกาของประชาชนที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้หรือไม่ การที่ประชาชนร่วมกันยื่นทูลเกล้าฯ กล่าวถึงความทุกข์แสนสาหัส จากปัญหาเศรษฐกิจ มีการยึดอำนาจโดยเผด็จการ จัดตั้งรัฐบาลไม่ชอบธรรม และได้กล่าวถึงความมุ่งหวังให้เกิดความสามัคคีในชาติ นอกเหนือจากขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการทูลเกล้าฯถวายฎีการ้องทุกข์ ขอพระบรมราชานุเคราะห์ และฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในฉบับเดียวกัน จึงน่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อองค์พระมหากษัตริย์ได้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่เรียกว่าโบราณราชประเพณี  

ตอนท้ายแถลงการณ์ระบุด้วยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา259 บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากจะทูลเกล้าฯถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้  คำว่า ก็ได้คือ กฎหมายไม่บังคับให้ยื่นผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเท่านั้น นอกจากนี้คำขอถวายฎีกาของประชาชน ยังไม่มีถ้อยคำใดคัดค้านคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองแต่อย่างใด เนื้อหาฎีกายังได้ยืนยันมุ่งหวังให้เกิดความสามัคคี สมานฉันท์ในชาติ และวรรคสุดท้ายของคำขอถวายยอมรับว่าสุดแต่พระบรมราชวินิจฉัย ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และบุคคลในรัฐบาลตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หากเห็นแตกต่างในประการใด ควรจัดทำบันทึกถวายความเห็น ไม่ควรที่จะใช้วิธีการใดๆเพื่อระงับการทูลเกล้าฯให้สถานการณ์เลวร้าย ทำให้เกิดการเผชิญหน้าและขยายขอบเขตปัญหาออกไปไม่สิ้นสุด

...