"สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์" ปลัดแรงงานชี้ไม่จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำมีโทษตามกฎหมาย ย้ำมีหลายมาตรการช่วยลดผลกระทบ...
วันที่ 31 มี.ค. นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ว่า จากการที่คณะกรรมการค่าจ้าง มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่วันละ 63-85 บาท โดยมี 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และภูเก็ต ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท และอีก 70 จังหวัดที่เหลือ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในปี 2554 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 แต่เนื่องจากวิกฤติอุทกภัย จึงให้เลื่อนการใช้บังคับไปเป็นตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 เป็นต้นไป และวันที่ 1 ม.ค. 2556 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ สำหรับโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน หากนายจ้างที่ไม่จ่ายค่าจ้างค่าจ้างขั้นต่ำ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายสมเกียรติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานมีมาตรการลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้าง คือลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมของฝ่ายนายจ้าง–ลูกจ้าง ในปี 2555 โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2555 ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนจากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ลดลงฝ่ายละร้อยละ 2 เหลือฝ่ายละร้อยละ 3 และตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.–31 ธ.ค. 2555 ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนจากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ลดลงฝ่ายละร้อยละ 1 เหลือฝ่ายละร้อยละ 4 ให้สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ ยกระดับศักยภาพแรงงานไทย ส่วนมาตรการของกระทรวงการคลัง จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23ในปี 2555 และเหลือร้อยละ 20 ในปี 2556.
...