วงเสวนาแก้รัฐธรรมนูญเห็นพ้องควรตั้ง ส.ส.ร. ย้ำชัดภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วม ด้าน 'นพ.ตุลย์' ชี้ จะแก้มาตราไหนต้องเอาให้ชัด ซัดปัญหาคือคนที่ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ส่วน 'อภิวันท์' เผยที่ผ่านมาเพราะกฎหมายระแวงแค่คนๆ เดียว ระบุที่มา รธน.ต้องไร้อคติ
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ศูนย์วิจัยและติดตามนโยบายภาครัฐ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้มีการอภิปรายในหัวข้อแก้รัฐธรรมนูญ แก้ผ้าการเมือง โดยมีผู้ร่วมอภิปราย เช่น นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายคมสัน โพธิ์คง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 โดย เป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็นของการหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกัน ในเวทีครั้งนี้ โดย นพ.ตุลย์ ได้กล่าวใจความตอนหนึ่งของการอภิปรายในครั้งนี้ว่า การแก้ รธน.นั้นตนยืนยันว่าแก้ได้ โดยอยากเสนอว่าคนที่จะแก้ รธน.ต้องดูว่าจะแก้มาตราไหน อย่างไร และที่มาของ ส.ว.ตนเองก็เห็นด้วยว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าตรงไหนมาตราใดที่ปัญหาในการปฏิบัติ เช่น เรื่องเอกสิทธิ์ ส.ส.ไม่ต้องขึ้นศาล ข้อเท็จจริงคือไม่ได้มีการประชุมทุกวัน เป็นต้น
นพ.ตุลย์ กล่าวว่า เรามีเจตนาที่จะให้การเมืองเข้มแข็งให้องค์กรอิสระตรวจสอบกันได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจาก รธน. 40 คือไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวกฎหมายเอง แต่มีคนใช้ช่องว่างของกฎหมาย เช่น การควบรวมพรรคการเมือง การสังกัดพรรคการเมือง และทำตามมติพรรค ซึ่งความจริงแล้ว รธน. 40 ตัวจริงไม่มีปัญหา แต่คนใช้มีปัญหา เมื่อมันมีปัญหาถูกทุบทิ้งก็ต้องร่างขึ้นมาใหม่
...

“ถามว่ารธน. 50 เกิดขึ้นใหม่หมดเลยหรือเปล่ามันก็ไม่ใช่ รธน.ตัว 50 ก็เพียงแต่เอาของ 40 มาแก้อีกครั้งเท่านั้นในส่วนที่มีปัญหา การแก้ไข รธน.นั้นแก้ได้ แต่ไม่ควรเหมารวมทั้งฉบับและตอบประชาชนสังคมไทยให้ได้เหมือนกันว่ามีปัญหา เพราะอะไร เร่งการแก้เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนจะเร่งด่วนขนาดไหนก็ต้องดูตามความเหมาะสม” แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี กล่าว
พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า หลักของการปกครองในเรื่องของประชาธิปไตยเขาให้ความสำคัญของหลักความเป็นมนุษย์นั้นเท่าเทียมกัน เสียงข้างมากต้องรับฟังเสียงข้างน้อยด้วย ตนมีความคิดว่าสังคมเกิดความแตกแยกเกิดเพราะอะไร เป็นเพราะการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มคนทั้งสองฝ่าย ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย เพียงเพราะรุ่นพี่ของตนได้ยึดอำนาจและร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา
“ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาเป็น ส.ส.ร.นั้นต้องไม่มีอคติใดๆ ทั้งสิ้น ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่ระแวง นี่คือหลักการในการร่าง และมีการไม่ไว้วางใจในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมานั้น ส.ส.ร.มาจากคนที่มีความเกี่ยวข้องกับคนมีอำนาจเก่า ไม่มีใครในโลกที่ยึดอำนาจแล้วไม่คิดจะสืบทอด ซี่งองค์ประกอบที่แล้วมาเพียงแต่ป้องกันเพียงแต่ว่าไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมามีอำนาจอีกครั้งเท่านั้น” พ.อ.อภิวันท์ กล่าว
พ.อ.อภิวันท์ กล่าวอีกว่า การเลือก ส.ส.ร.ควรมีตัวแทนจากภาคประชาชน หรือเป็นตัวแทนจากองค์กรทางวิชาชีพ มาเป็นตัวแทนในการร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนี้เป็นการระแวงนักการเมือง ตนเชื่อว่านักการเมืองสมัยนี้พัฒนาแล้วมีค่าเฉลี่ยที่ดีขึ้น อย่างเช่นตัวตนเองที่ก็มั่นใจว่าเป็นนักการเมืองที่ดี
ด้าน นายคมสัน กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้มีปัญหาแค่ รธน. แต่ว่ามีปัญหาทุกฉบับ การใช้กฎหมายมีการถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นปัญหาพื้นฐานของสังคมไทยไม่ใช่แค่ รธน. แต่เป็นเพราะกระทบต่อชาวบ้าน นักการเมืองพูดแล้วเสียงดัง แต่ในเชิงหลักการของรัฐธรรมนูญไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย แต่เป็นสัญลักษณ์เพียงว่าเป็นประเทศที่มีเอกราชเท่านั้น ตัว รธน.เองก็มีหลายประเทศที่มีพื้นฐานไม่ได้มาจากประชาธิปไตยเลย เช่น ประเทศรัสเซีย ส่วนในรธน. ไทยนั้นตั้งแต่ที่เกิดขึ้นมาไม่ต่างจากต่างประเทศนั้นเกิดมาจากการปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดจากการต่อสู้กัน
“อำนาจ เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่เสียสละ ตัวหลักการสำคัญคือการพูดถึงเรื่องการอำนาจรัฐเป็นหลัก แต่เรื่องสำคัญคือการพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ เช่น การใช้อำนาจทางการเมืองที่มีปัญหาไปกระทบกับชาวบ้าน วงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นคือ รัฐประหารแล้วก็มาเลือกตั้ง มาต่อที่ร่างรัฐธรรมนูญ แล้วได้รัฐบาลมาคอรัปชัน เสร็จแล้วก็มารัฐประหารอีกครั้ง” นายคมสัน กล่าว
ด้าน นายคณิน กล่าวว่า มุมมองหลักในการมอง รธน.มี 5 ข้อที่ว่าจะดีหรือไม่ หรือเป็นภูมิคุ้มกัน ที่มาขององค์กร กระบวนการในการยกร่างจัดทำ การมีส่วนร่วมของประชาชน โครงสร้างและเนื้อหาซึ่งเป็นส่วนประกอบ กระบวนการพิจารณาและการเห็นชอบ และบทเฉพาะกาลในการบังคับการที่เป็นต้นตอของปัญหา กลับไปมองเรื่องเนื้อหาเป็นหลัก
“ส่วนโครงสร้างของเนื้อหาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ประเทศไทยเรามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นประชาธิปไตย อย่างน้อยที่สุดต้องดูในเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ และตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ และยึดโยงของที่มา ทั้ง 3 ฝ่ายต้องสามารถตรวจสอบได้ และมีหลักประกันในเรื่องของเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ต้องไม่ละเมิด ต้องมีเนื้อหาที่ไม่ก่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองมาใช่แค่เพียงของรัฐบาล และสภา แต่หมายถึงเสถียรภาพของบ้านเมืองเพราะเป็นจุดสุดยอดที่สุด” นายคณิน กล่าว
อดีตส.ส.ร. 2540 กล่าวเพิ่มอีกว่า แม้ที่มาของปี 40 ไม่ดีที่สุด อย่างน้อยที่สุดคือมี ส.ส.ร. สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ ว่ามีปัจจัยอะไรที่จะสร้างความเสียหายให้กับประชาชนหรือไม่อย่างไร เพราะฉะนั้นสรุปแล้วการมีส่วนร่วมของปี 40 มีคุณสมบัติครบถ้วน เพราะเป็น รธน.มาจากประชาชนเพราะมีส่วนร่วมมากกว่าทุกฉบับที่เคยมีมา ปัญหาของรธน. 40 อยู่ที่การนำมาใช้บังคับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในงานอภิปรายได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนประมาณ 20 คน ได้เข้าร่วมฟังในครั้งนี้ด้วย ได้ส่งเสียงโห่เป็นระยะในการอภิปรายบนเวทีของผู้ที่กำลังอภิปราย พร้อมกับตะโกนแย้งเป็นระยะเมื่อ นพ.ตุลย์ เริ่มพูดถึงประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ