กระทรวงยุติธรรม ออกแถลงการณ์ ชี้แจงการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้"ทักษิณ"หวั่นการกระทำเสื้อแดงก่อให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระราชอำนาจ
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (31 ก.ค.) กระทรวงยุติธรรม ออกแถลงการณ์เรื่อง การทำความเข้าใจที่ถูกต้องกรณีการทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษจาก กรณีที่ประชาชนจำนวนมากถูกชักชวนให้ร่วมลงชื่อทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างว่าจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นจากการลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลนั้น กระทรวงยุติธรรม ขอชี้แจงว่าการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระราชอำนาจ จึงเห็นควรชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนดังนี้
1.สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ได้รับรองสถานะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติและทรงอยู่ภายใต้ กฎหมายเช่นเดียวกับพสกนิกรของพระองค์ ขณะเดียวกันกฎหมายก็ได้ยอมรับขนบธรรมเนียมของชาติที่ให้พระมหากษัตริย์ทรง ไว้ซึ่งพระเมตตา มีพระราชอำนาจในการอภัยโทษได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามกรอบและกระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 และระเบียบปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ที่ผ่านมา ผู้ที่มีสิทธิและสามารถจะขอพระราชทานอภัยอภัยโทษได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติ ว่าจะต้องเป็นตัวของผู้ต้องคำพิพากษาของศาลให้รับโทษทางอาญา หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ได้แก่ บิดามารดา คู่สมรส บุตรหลาน หรือญาติที่ใกล้ชิดเท่านั้นเป็นผู้ยื่นแสดงความจำนงขอพระราชทานอภัยโทษตาม หลักเกณฑ์และกฎหมาย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของขั้นตอน การดำเนินการและประวัติความประพฤติตลอดจนความร้ายแรงของการกระทำความผิดของ ผู้ต้องคำพิพากษาเพื่อทำความเห็นประกอบการทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย
2.กระบวนการทางกฎหมายข้างต้นนี้เป็นวิธีปฏิบัติที่ผ่านมาของกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรมมาโดยตลอด ไม่เคยปฏิบัตินอกเหนือจากนี้ ดังนั้นประเด็นสำคัญคือ ลำพังเพียงผู้ต้องคำพิพากษา บิดามารดา คู่สมรส บุตรหลาน หรือญาติที่ใกล้ชิดเพียงคนเดียวก็สามารถดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ประชาชนที่ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเป็นจำนวนมากมาลงชื่อ ทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าผู้ดำเนินการซึ่งทราบว่าไม่มีสิทธิและทำไม่ได้นั้น มีวัตถุประสงค์อะไรในการดำเนินการเช่นนี้ หรือเพียงเพื่อตั้งใจให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนเพื่อวัตถุประสงค์อื่นทางการเมือง
3.กระทรวงยุติธรรมเชื่อว่า พสกนิกรชาวไทยทั้งปวงมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่มีความประสงค์จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของชาติมาเกี่ยวข้อง กับความขัดแย้งทางการเมือง และ ผู้ที่ร่วมลงชื่อเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษกับกลุ่มคนดังกล่าวอาจมีความเข้าใจ คลาดเคลื่อนถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอพระราชทานอภัยโทษและคาดไม่ถึงว่า จะถูกนำไปผูกโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองและระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ดังนั้นกระทรวงยุติธรรมจึงขอทำความเข้าใจกับประชาชนชาวไทยที่มีความรักชาติ และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วย การขอพระราชทานอภัยโทษ และหากพี่น้องชาวไทยได้รับทราบและเข้าใจข้อเท็จจริงนี้แล้วคิดว่าการลงชื่อ ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความคิดเห็นและวัตถุประสงค์ของท่าน ก็ขอให้ท่านดำเนินการถอนชื่อของท่านออกจากกระบวนการดังกล่าวก็จะเป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม.
...