ผู้ตรวจการแผ่นดินลงลุยพื้นที่ปัญหาทับซ้อนวังน้ำเขียว ลั่น ใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือนเคลียร์ได้ เตรียมชงข้อเสนอผ่อนปรนผู้บุกรุกเข้าสู่ครม. โอ่ หากสำเร็จยกให้เป็นโมเดลแก้ปัญหาพื้นที่ ชาวบ้านข้องใจบุกทวงคำตอบชี้ชัดพื้นที่ไหนทับซ้อน

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ว่าการอำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจร เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่รับฟังและแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน ครั้งที่ 1 โดยมีนายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสมศักดิ์ เหมทานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี นายอำเภอวังน้ำเขียว เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติทับลาน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และชาวบ้าน อ.วังน้ำเขียว ประมาณ 100 คน เข้าร่วมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ กรณีปัญหาวังน้ำเขียวที่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่



นายศรีราชา กล่าว ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้ตรวจการแผ่นดินในที่ประชุมว่า จะจำแนกประเภทพื้นที่และกลุ่มบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ให้ชัดเจน โดยในเบื้องต้นพบว่ามีกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ ประกอบด้วย กลุ่มบุคคลที่อยู่ในพื้นที่จริง กลุ่มผู้บุกรุก กลุ่มบุคคลที่ได้รับโอนพื้นที่มาจากผู้รุก และผู้ที่ซื้อโดยสุจริตแต่ไม่รู้ที่มาของที่ดินแต่เป็นแฟชั่น และเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่โอโซนบริสุทธิ์ติดอันดับโลก รวมทั้งอาจจะจำแนกกลุ่มบุคคลกรณีอื่นได้อีก และตนจะทำข้อเสนอให้ ครม.พิจารณา โดยขอให้ออกเป็นมติผ่อนผันเฉพาะกาล เพื่อเป็นการเยียวยาปัญหาโดยไม่ขัดการหลักกฎหมายและหลักสิทธิประโยชน์ของคน ส่วนใหญ่ เช่นพื้นที่ใดเป็นป่าอนุรักษ์โซนพื้นที่ซี

...



“แต่มีเอกชนที่มาซื้อโดยไม่รู้หรือโดยความผิดพลาดของหน่วยงานที่กำหนดแผนที่ทับซ้อน อาจจะผ่อนผันให้อยู่ต่อไป 10 ปี เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับสิ่งที่ได้ลงทุนไปแล้ว ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ก็อาจผ่อนผันให้อยู่ได้ 10 – 15 ปี แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ 4 ข้อ คือห้ามบุกรุกเพิ่มเติม ห้ามขยายสิ่งก่อสร้างเพิ่ม ห้ามจำหน่ายเปลี่ยนมือ และต้องปลูกต้นไม้ยืนต้นเพิ่มเพื่อคืนพื้นที่สีเขียว หากผิดเงื่อนไขก็จะหมดสิทธิ์ที่ได้รับการผ่อนผันทันที อย่างไรก็ตามหากแก้ปัญหาวังน้ำเขียวได้สำเร็จจะเสนอให้เป็นโมเดลในการแก้ไข ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน และการบุกรุกพื้นที่ทั่วประเทศต่อ ครม. ต่อไป” นายศรีราชา กล่าว

นายศรีราชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาวังน้ำเขียวนั้น ตนมีหลักคิดว่าหากเรื่องใดก็ตามที่ประชาชนถูกกระทบด้วยความไม่แน่ใจของภาครัฐ ทำให้เข้าใจผิดหลงเชื่อจนเสียประโยชน์ เราจะรับฟังจากประชาชนในทางที่จะเอื้อประโยชน์ โดยไม่ให้เสียหลักการใหญ่ ปัญหาเกิดจากนโยบายที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ กับนโยบายแต่ละยุคแต่ละสมัยที่ไม่สอดคล้องกันในทิศทางเดียวกัน สมัยหนึ่งก็จะไปเน้นการท่องเที่ยว อีกสมัยกรมป่าไม้กรมอุทยานก็ลุกขึ้นมาจับกุม

“ปัญหาชาวบ้านจะถูกแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติทับลาน กรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. หากสามารถพิสูจน์สิทธิ์เก่าที่มีอยู่เดิม ก็จะไม่มีการรอนสิทธิ์ เพราะมาอยู่ก่อนการประกาศเขตอุทยานเขตป่าสงวน ซึ่งจะต้องมีการสอบทานสิทธิ์ แต่ปัญหาจะไปเกิดกับกลุ่มผู้บุกรุกป่าตัวจริง ซึ่งเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียม กฎหมู่จะมาอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ ซึ่งอาจจะใช้เวลาราว 3 ถึง 6 เดือนในการจัดแบ่งกลุ่ม กลุ่มที่มีสิทธิ์ได้รับเอกสารสิทธิ์ก็จะช่วยเร่งรัดให้ได้เอกสารสิทธิ์ ส่วนกลุ่มที่บุกรุกป่าก็ต้องรีบดำเนินคดีตามกฎหมาย กลุ่มที่รับโอนจากกลุ่มที่บุกรุกป่าก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายเช่นกัน ส่วนกลุ่มที่สี่ คือคนที่ไปรับโอนโดยคิดว่ามีสิทธิ์ไปทำอะไรได้ ซึ่งผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนี้ รวมทั้งกลุ่มที่ห้าสมัครเข้ามาอยู่ในเครือข่าย ส.ป.ก. ซึ่งหากปฏิบัติตามเงื่อนไข ส.ป.ก. ก็ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือแทนที่จะทำเกษตรกลับไปทำรีสอร์ต ทั้งหมดไม่ได้เป็นข้อยกเว้นตามกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่ซื้อไปโดยสุจริต แล้วมีการลงทุนกันใหญ่จึงเกิดปัญหา ซึ่งอาจจะแก้ปัญหาโดยยืดหยุ่นให้อยู่ไปราว 10 – 15” ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว


ด้านนายภูมิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้แนวทางแก้ไขปัญหาของแต่ละรัฐบาลไม่ต่อเนื่อง ทั้งยังมีการซื้อขายที่เปลี่ยนมือของชาวบ้าน รวมทั้งปัญหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ป่าอนุรักษ์ และ ส.ป.ก.ก็ยังไม่ชัดเจน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 มีรัฐบาลในขณะนั้นมีมติผ่อนปรนให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่ได้ โดยจะให้มีการสำรวจตรวจสอบ แต่จนทุกวันนี้การสำรวจตรวจสอบยังไม่แล้วเสร็จ มาถึงช่วงนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้มีนโยบายเน้นส่งเสริมพื้นที่อุทยานฯ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว จึงทำให้มีเอกชนเข้ามาจับจองพื้นที่และจนกลายเป็นปัญหาถึงปัจจุบันนี้



ผู้สื่อข่าวรายงานภายหลังจากรับฟังปัญหาจากนายอำเภอและผู้ที่เกี่ยวข้อง นายศรีราชาพร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่วังน้ำเขียวที่ชุมชน หมู่บ้านคลองทุเรียน อ.วังน้ำเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่บนเขาแผงม้า โดยถูกกำหนดเป็นพื้นที่โซนซี หรือพื้นที่อนุรักษ์ ที่มีการปลูกสร้างอาคารบ้านพัก และเป็นพื้นที่เกษตร ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ทั้งสองหน่วยงานได้มีการตกลงว่าจะดำเนินการนำกฎหมาย บังคับใช้ทับซ้อนกันที่จะต้องมีความชัดเจนก่อนว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็น พื้นที่ของหน่วยงานใด จากนั้นจึงจะใช้กฎหมายของหน่วยงานนั้นดำเนินการกับพื้นที่ดังกล่าว ต่อมาได้เดินทางไปยังหมู่บ้านไทยสามัคคี เพื่อดูพื้นที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลานและ ส.ป.ก. ที่มีการบุกรุกพื้นที่ของชาวบ้านโดยใช้พื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยและทำกิน โดยมีเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติทับลานและ ส.ป.ก.ชี้แจงและนำภาพถ่ายดาวเทียมของอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยในแผนที่ดังกล่าวมีการระบุพิกัดพื้นที่ที่ถูกบุกรุก ทั้งพื้นที่ทางการเกษตร ที่อยู่อาศัย และรีสอร์ต ในระหว่างนั้นนายสุเทพ เฉลานอก อายุ 34 ปี ชาวบ้านหมู่ 7 ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่มีพื้นที่อยู่ในเขตบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานมาขอความชัดเจนและขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน เนื่องจากพื้นที่ของตนเองอยู่ในเขตทับซ้อน


นายสุเทพ กล่าวต่อว่า บ้านของตนอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนของอุทยานแห่งชาติทับลานและ ส.ป.ก. ซึ่งมีพื้นที่ 20 ไร่ เดิม ที่ของตนอยู่บริเวณเชิงเขา แต่เมื่อมีการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ทางเจ้าหน้าที่ก็ให้ถอยร่นลงมาอยู่ในที่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ ส.ป.ก.ที่มีการจัดสรรให้กับชาวบ้าน ครอบครัวของตนประกอบอาชีพทำการเกษตรในพื้นที่มานานแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน ตนก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่รู้กฎหมายจึงอยากขอความชัดเจนจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้เรียกร้องในสิ่งที่ชาวบ้านจะได้ ที่สำคัญเราประกอบอาชีพอย่างถูกต้องไม่ได้นำที่ดินไปทำอย่างอื่น หากถูกยึดหรือต้องคืนให้กับหน่วยงานของรัฐ ครอบครัวก็จะเสียพื้นที่ดินที่ทำมาหากินชิ้นสุดท้ายของครอบครัวไป โดยที่ไม่รู้ว่าจะทำมาหากินอย่างไรต่อไป