เลขา รมว.ยุติธรรม เผย กองทุนยุติธรรม อนุมัติงบ 43 ล้านบาท ประกันตัวกลุ่มแนวร่วมเสื้อแดง 57 ราย พ้นคุก พร้อมเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง ทั้งเหลืองแดง...
เมื่อวันที่ 18 ม.ค.นายถิรชัย วุฒิธรรม เลขานุการ รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า กองทุนยุติธรรม มีมติประกันตัวผู้ต้องขังจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง จำนวน 57 ราย สืบเนื่องจาก ครม.มีมติ ที่ 25 ต.ค.เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(ปอคป.) ประเด็นช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง แต่ที่ผ่านมา กองทุนยุติธรรมยังขาดแคลนงบประมาณ ซึ่งการประกันตัวต้องใช้เงิน 43,840,000 บาท เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ครม.จึงอนุมัติเงินงบกลางจำนวนดังกล่าวมาให้กองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะรับไปดำเนินการต่อไป
ด้านนายพิทยา จินาวัฒน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ประสานกับศาล และสำนักงานยุติธรรมจังหวัด และ นปช.เนื่องทนายความ ญาติพี่น้องผู้ต้องขัง คาดว่า ไม่เกิน ม.ค.จะสามารถดำเนินการยื่นประกันตัวในเรือนจำ ทั้ง 8 แห่ง จำนวน 57 ราย ได้ ปกติกองทุนยุติธรรมได้ช่วยเหลือประกันตัวไม่ใช่แต่เฉพาะกลุ่มเสื้อแดง หรือคดีการเมือง ตั้งแต่ก่อตั้ง ได้ช่วยเหลือวงเงินในการประกันตัวไปแล้วกว่า 6 พันราย รวมทั้งคดีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวถึงแนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองว่า การวางกรอบการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง จะมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับบริษัทประกันภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อกำหนดกรอบการจ่ายเงินเยียวยาให้ครอบคลุมทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นในการจ่ายเงินเยียวยาจะต้องมีความเท่าเทียมกัน ทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ส่วนกรณีความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้จนเป็นเหตุให้ทหารและชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต เป็นผลจากเหตุการณ์ทางการเมือง หรือเป็นเรื่องของความมั่นคง แบ่งแยกดินแดน ต้องแยกประเด็นออกเพื่อวางกรอบการช่วยเหลือให้ชัดเจน
นายพิทยา กล่าวด้วยว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่ถูกเผาทำลายรวมมูลค่าความเสียหาย 1.2 หมื่นล้านบาท ได้มีการวางกรอบการเยียวยา โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ผู้ประกอบการที่ได้ประกันภัยไว้แล้ว แต่ไม่ได้รับเงินประกัน เพราะไม่สอดคล้องกับกรมธรรม์ประกันภัย โดยไม่ครอบคลุมในคดีก่อการร้าย 2. กลุ่มที่ไม่ได้ทำประกันภัยต้องได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะมีนโยบายให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าหรือไม่ เพราะยังไม่มีการพูดถึงกรณีดังกล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คาดว่าการประชุมจะมีขึ้นต้นเดือน ก.พ.เพื่อสามารถนำมติที่ประชุมไปแสดงในศาลแพ่งได้ ก่อนที่คดีจะหมดอายุความในเดือน พ.ค.55.
...