อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. งดแสดงความเห็น ม.ธรรมศาสตร์ รับ 'ก้านธูป' เข้าศึกษา ถือเป็นเสรีภาพของสถาบัน ระบุถึงเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล แต่ถ้าคนจำหน้าได้ก็ถูกกดดันอยู่ดี เชื่อกรณีนี้ไม่ใช่ล่าแม่มด แต่เป็นการหาความจริงจับอาชญากร
รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้ความเห็นกับ 'ไทยรัฐออนไลน์' กรณี 'ก้านธูป' นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มธ. ถูกหมายเรียกไปรายงานตัวที่ สน.บางเขน ในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งบุคคลดังกล่าวก่อนที่จะเข้าศึกษาที่มธ. ก็ได้ถูกตัดสิทธิที่จะเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยเหตุผลข้างต้น ว่า ในธรรมศาสตร์มักจะพูดถึงเรื่องอิสรภาพ ไม่มีเรื่องของการแบ่งแยก ถือเป็นเสรีภาพของบุคคล เพราะว่าถ้าหากมีความผิดอะไรต้องให้ส่วนของกฎหมายจัดการ ไม่มีการใช้การกดดันจากกลุ่มชนที่ไม่ใช่ข้อกฎหมาย ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยจะมีข้อบังคับเกี่ยวกับการยึดถือประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งข้อเท็จจริงต้องให้กฎหมายจัดการ
"ส่วนข้อเท็จจริงที่เข้าธรรมศาสตร์ได้โดยไม่มีคนรู้ เพราะมีการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล จึงทำให้ไม่มีคนจำได้ แต่เมื่อเข้าไปแล้วบางคนก็อาจจะจำได้ว่า เป็นคนเดียวกับที่มีคดีความผิดมาตรา 112 นั้น ก็อาจจะมีบ้างที่ถูกกดดันจากสังคม สุดท้ายก็ต้องอยู่ไม่ได้ ถึงแม้ผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยจะรับเข้าไป แต่ในขณะที่ตำรวจยังไม่ได้พิสูจน์ แต่สิ่งที่ทำในเฟซบุ๊กชัดเจนอย่างนี้ การต่อต้านจากประชาคมน่าจะเกิดขึ้น" รศ.ดร.เสรี กล่าว
รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า ก้านธูปไม่มีความสำนึกในประวัติศาสตร์ หากตนยังคงเป็นคณบดีและเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ได้สอน ก็คงจะสอนไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทำอะไร เรื่องนี้ต้องให้ทางกฎหมายจัดการ แต่ทางด้านประชาคมที่จะต่อต้าน ก็คงจะไม่ไปต่อต้านประชาคม ซึ่งเมื่อสามารถใช้เสรีภาพของเขาได้ เราก็ใช้เสรีภาพของเราได้เช่นกัน ซึ่งถ้าออกมาพิสูจน์แล้วว่ามีความผิดจริง ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ส่วนที่มีบางฝ่ายมีความเป็นห่วงว่า กรณีของก้านธูปนั้นจะเป็นกรณีการล่าแม่มด ดร.เสรี กล่าวว่า การล่าแม่มดนำมาใช้กับก้านธูปไม่ได้ เพราะไม่ใช่แม่มด แต่คือ อาชญากร ซึ่งถ้ามีความผิดจริงก็จะเป็นอาชญากร อย่างการล่าแม่มดคือ การกล่าวหาโดยไร้หลักฐาน ส่วนกรณีนี้เรียกว่าล่าแม่มดไม่ได้ เพราะมีหลักฐานของการทำผิด ซึ่งกรณีนี้มีหลักฐานชัดเจนอยู่แล้ว จะเป็นกรณีเดียวกับแม่มดไม่ได้
"สำหรับกลุ่มหนึ่งที่ออกมาปกป้อง อ้างว่าเหตุที่สังคมกดดัน เป็นเพราะว่าอิงมาจากกระแสล่าแม่มดนั้น ไม่มีกระแสล่าแม่มดใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ ณ เวลานี้ เราเห็นว่าคนที่ไม่มีสำนึกในประวัติศาสตร์ และพยายามที่จะทำให้สถาบันของเราอ่อนแอลงมีอยู่จริง เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการที่จะให้มีคำว่า ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ดำรงอยู่ ย่อมไม่ยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้น" อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กล่าว
ส่วนกรณีที่มีบางคนกล่าวว่าสื่อมวลชนทำหน้าที่ที่อคติในการแทรกแซงให้เกิดการกดดันนั้น รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า สื่อมวลชนเพียงแค่รายงานว่า บุคคลนี้ทำอะไร ส่วนการกดดันนั้นขึ้นอยู่กับความรับรู้ข้อมูลข่าวสาร บวกกับการคิดวิเคราะห์ว่าจะชื่นชม จะยินดี หรือ จะรู้สึกรังเกียจ การที่สื่อมวลชนแทรกแซงให้เกิดความกดดันไม่ได้ นอกจากให้ข้อมูลเท่านั้น มีหน้าที่แค่รายงานข่าวว่ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวอาจจะนำไปสู่กระแสสังคมอย่างคดีอากงที่เกิดขึ้นได้อีก หากถูกคนบางกลุ่มไปใช้ประโยชน์ แต่ว่ารอบนี้จะไม่เหมือนกับคดีอากง เพราะกระแสสังคมก็แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เอาด้วยนั้นเป็นเสียส่วนใหญ่.
...