พิสูจน์เสียงข้างมาก “เด็ดขาด” ใช้เงินฟื้นฟูวิกฤติน้ำ
ธรรมชาติของ “น้ำ” ย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ
เมื่อไหลมาแล้ว ก็ไหลผ่านไปมาถึงวันนี้ สถานการณ์วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ คลี่คลายลงไปแล้วโดยธรรมชาติ
ทุก พื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วมสูงมิดหัวมิดหูหรือมิดหัวเข่า ตอนนี้น้ำลดลงจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ อีกไม่กี่วันก็จะแห้งสนิท กลับมาเหมือนเดิม
เหลือไว้แต่ ความเสียหาย ความสูญเสียที่มหาอุทกภัยทิ้งไว้ให้บ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องมือทำมาหากินโดนน้ำซัดพัง ทรัพย์สินสูญหายไปกับสายน้ำ เรือกสวนไร่นาพืชผลการเกษตรล้มเน่าระเนนระนาด ไม้ผลไม้ใบยืนต้นตาย
หลายพื้นที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ของสิ่งก่อสร้าง ทั้งวัดวาอาราม โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ถนนหนทาง สาธารณูปโภคต่างๆ เสียหายยับเยิน
โดยรัฐบาลประกาศมีพื้นที่ประสบพิบัติภัยภัยน้ำท่วม 62 จังหวัด จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย
พื้นที่ การเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 11 ล้านไร่ บ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วม 1.6 ล้านหลัง มีผู้ประสบภัยกว่า 4 ล้านคน
ประเมินมูลค่าความเสียหายจากมหาวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้กว่า 1.3 ล้านล้านบาท
ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่รอคอยการบูรณะ ฟื้นฟู เยียวยา จากรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
แน่นอน เมื่อสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายลงไปแล้ว สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการ ก็คือเรื่องของการฟื้นฟู
ยิ่ง คราวนี้พี่น้องประชาชนต้องเผชิญกับวิกฤติอุทกภัยที่หนักหนา สาหัสสากรรจ์ที่สุดในรอบ 60 กว่าปี ก็ยิ่งต้องดำเนินการฟื้นฟูกันขนานใหญ่
เพื่อกอบกู้ความเสียหายทุกอย่างให้กลับมาใกล้เคียงกับสภาพเดิม
ที่สำคัญ เมื่อเกิดความเสียหายและต้องมีการฟื้นฟูเยียวยา ก็ต้องมีเงิน มีงบประมาณ เพื่อใช้ในการดำเนินการ
ยิ่งมีความเสียหายมาก ต้องฟื้นฟูมาก งบประมาณก็ต้องเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว รวมแล้วเป็นจำนวนมหาศาล
โดยขณะนี้ทางรัฐบาลได้ตั้งวงเงินงบประมาณในการฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมไว้ทั้งสิ้น 120,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบฯฉุกเฉิน 47,600 ล้านบาท ในโครงการที่ดำเนินการได้ทันที ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ถึงเดือนมกราคม 2555 เป็นเงินจำนวน 20,110 ล้านบาท
แบ่งเป็น ด้านเศรษฐกิจ ในการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท ใน 62 จังหวัด และกรุงเทพฯ รวม 2,635,110 ครัวเรือน เป็นเงิน 13,175 ล้านบาท
ด้านคุณภาพชีวิต ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตตามข้อเสนอของจังหวัด 314.5 ล้านบาท โครงการเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียน โรงเรียน 2,006 แห่ง 456 ล้านบาท โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้านสาธารณสุขในพื้นที่ประสบ อุทกภัยร้ายแรง 9 จังหวัด 121.9 ล้านบาท โครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง 100,000 ราย 606 ล้านบาท โครงการตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน 17.8 ล้านบาท
ด้าน โครงสร้างพื้นฐาน โครงการฟื้นฟูบูรณะโบราณสถาน 296 แห่ง 1,382 ล้านบาท โครงการฟื้นฟูเร่งด่วนทางสายหลัก และโครงข่ายสำคัญ 708 สายทาง 1,813 ล้านบาท โครงการฟื้นฟูทางหลวงชนบทอันเนื่องจากอุทกภัย 11 สายทาง 139 ล้านบาท
สำหรับงบฯที่เหลือในส่วนนี้อีก 27,000 ล้านบาท ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบความเสียหาย และเสนอต่อคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผล กระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน
นี่เป็นเพียงแค่งบฯ เยียวยาและฟื้นฟูเร่งด่วนเฉพาะหน้าทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม คุณภาพชีวิต และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่เสียหาย
ยังไม่รวม งบประมาณที่รัฐบาลจะต้องใช้ในการฟื้นฟูและแก้ปัญหาน้ำในระยะ ยาวอีกเป็นจำนวนมหาศาล คาดการณ์กันว่าไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนล้านบาท เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
แน่นอน เมื่อเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงจากวิกฤติน้ำท่วม มีผู้คนได้รับผลกระทบเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก การฟื้นฟูเยียวยาต้องทำด้วยความรวดเร็ว
มันจึงเป็นที่จับตา ของคนในสังคม ทั้งผู้ที่เดือดร้อน และไม่ได้เดือดร้อนว่า รัฐบาลจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดความโปร่งใส
เพราะเมื่อระยะเวลาสั้น แต่ต้องการความรวดเร็ว
การสำรวจความเสียหาย การจ่ายเงินช่วยเหลือ จะถูกต้อง ตรงไปตรงมาแค่ไหน
ขณะที่การซ่อมสร้าง ซ่อมแซม โครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง รวมทั้งสถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล วัดวาอาราม ฯลฯ
การจัดซื้อ จัดจ้าง ต้องใช้วิธีที่รวดเร็ว หรือที่เรียกกันว่า “วิธีพิเศษ”
โดย จากร่องรอยที่ผ่านๆมาทุกยุคทุกสมัย การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ก็มักเกิดช่องโหว่ให้มีการทุจริตคอรัปชันให้เห็นกันมาตลอด
เพราะมีฝ่ายที่จ้องหาผลประโยชน์จากงบประมาณเหล่านี้ทุกขั้นทุกตอน
ยิ่งใช้วิธีพิเศษเพื่อความรวดเร็ว ก็ยิ่งได้ที “กินด่วน”
ฉะนั้น เมื่อต้องมีการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการเยียวยาฟื้นฟูความเสียหายจากวิกฤติน้ำท่วมใหญ่
จึงเป็นช่องทางให้บรรดาผู้แสวงประโยชน์ ทั้งพ่อค้า ข้าราชการ นักการเมือง
น้ำลายหกน้ำลายไหลรอจังหวะงาบ
ทั้งหมด นี้จึงอยู่ที่ผู้นำรัฐบาลที่จะต้องควบคุมการบริหารจัดการการ ใช้งบประมาณฟื้นฟูให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ
เพราะงบประมาณแผ่นดินทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินภาษีของประชาชน
แน่นอน ด้วยความตั้งใจดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องการให้การใช้จ่ายงบประมาณฟื้นฟูเป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ต้องการให้มีการทุจริต
อยากให้การใช้งบฯถึงมือพี่น้องประชาชน แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
สะท้อน จากการที่นายกฯยิ่งลักษณ์ ประกาศมอบนโยบายช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบสถานการณ์อุทกภัย แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ตรวจราชการ โดยระบุว่า
ขอ เน้นว่าการใช้จ่ายงบประมาณที่จะลงไปสู่ประชาชน อยากให้ช่วยกันดูให้ไปถึงมือประชาชนด้วยความโปร่งใสและส่ง ตรง สามารถตรวจสอบได้ ขอให้มีหลักเกณฑ์ชัดเจน
การดูแล โครงสร้างพื้นฐาน ถ้าเป็นส่วนกลางจะอยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคม แต่ถ้าลงไปในพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะดูแล หากเป็นชุมชนเรามีกลไกของเอสเอ็มแอล การลงไปดูเราจะใช้จีพีเอสเป็นส่วนประกอบในการอนุมัติงบ ประมาณ นอกจากนี้ผู้ตรวจราชการจะลงไปตรวจว่าจะซ่อมแซมจุดใดบ้าง
การ ซ่อมแซมการว่าจ้างนั้น อยากให้เป็นไปตามราคากลาง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แนวทางในการทำงานร่วมกันเราต้องตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล
เรา ไม่อยากเห็นกลไกในการจับผิดซึ่งกันและกัน แต่ทีมผู้บริหารของรัฐบาลจะลงไปตรวจสอบ เพื่อให้มีความโปร่งใส เราเห็นประชาชนลำบากก็อยากจะให้ประชาชนได้รับอย่างเต็มที่และ โปร่งใส
ย้ำชัดต้องการให้งบฯถึงมือประชาชนด้วยความโปร่งใส
ซึ่งตรงนี้ ถือเป็นหน้าที่ของนายกฯเต็มๆอยู่แล้ว เพราะในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้ควบคุมดูแลคณะรัฐมนตรีทั้งหมด
อย่างไร ก็ตาม การที่นายกฯยิ่งลักษณ์พุ่งเป้ากำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ดูแลการใช้งบประมาณฟื้นฟูเยียวยาด้วยความโปร่งใส
ถือเป็นเจตนาดี ที่ไม่ต้องการให้มีขบวนการใดๆเข้ามาเบียดบังงบประมาณฟื้นฟูความเสียหายจากวิกฤติน้ำท่วม
แต่ ขณะเดียวกัน นายกฯก็เน้นย้ำว่าจะมีทีมผู้บริหารของรัฐบาล นั่นก็คือ ระดับรัฐมนตรีลงไปตรวจสอบการใช้งบฯให้มีความโปร่งใส
ปมนี้ยังเป็นจุดที่มีปัญหา
เพราะต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านๆมาวงจรทุจริตคอรัปชันทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น พวกที่สุมหัวกันโกงกิน
หนีไม่พ้น “พ่อค้า” จับมือ “ข้าราชการ” และ “นักการเมือง”
ฉะนั้น การที่จะให้นักการเมืองที่เป็นฝ่ายบริหาร ลงไปตรวจสอบการใช้งบฯของข้าราชการ ตามปกติของสายการบังคับบัญชา
แม้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็อาจถูกมองได้ว่า ไม่ทันเกม
โดยเฉพาะในยามที่กำลังมีการใช้เงินฟื้นฟูจำนวนมหาศาล ที่เปรียบเสมือน “ของหวาน” ของขบวนการจ้องงาบงบประมาณ
เข้าตำรา “ฝากปลาย่างไว้กับแมว”
ด้วย เหตุนี้ ในห้วงที่มีการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการฟื้นฟูความเสียหาย จากวิกฤติน้ำท่วม จึงเป็นเรื่องที่ภาคสังคม โดยเฉพาะเครือข่ายต่อต้านคอรัปชันทั้งหลายจะต้องช่วยกันเป็นหู เป็นตาตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส คุ้มค่ามากที่สุด
ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะปล่อยให้ฝ่ายเสียงข้างมาก ตรวจสอบกันเอง
อย่างไรก็ตาม ในห้วงแห่งการฟื้นฟูความเสียหายจากวิกฤติมหันตภัยน้ำท่วมครั้งนี้
ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายภาวะผู้นำของนายกฯยิ่งลักษณ์ เป็นอย่างยิ่ง
เพราะ ในช่วงที่ประเทศและประชาชนเผชิญวิกฤติอุทกภัย การแก้ปัญหาน้ำท่วมภายใต้การนำของนายกฯยิ่งลักษณ์ เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า “สอบตก”
เมื่อมาถึงห้วงของการฟื้นฟูเยียวยา จึงเปรียบเสมือนกับการ “สอบซ่อม” ครั้งสำคัญของนายกฯ
ที่ จะต้องใช้ภาวะผู้นำบริหารจัดการกำกับดูแลการใช้งบประมาณ ฟื้นฟูความเสียหายให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสมากที่สุด
แต่จะเอาอยู่หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
ขณะ เดียวกัน การใช้งบฯฟื้นฟูครั้งนี้ยังเป็นการพิสูจน์ถึงความเป็นเสียง ข้างมากเด็ดขาดของรัฐบาล ว่าตั้งใจทุ่มเททำงานให้กับประชาชนอย่างที่ประกาศไว้ หรือเข้ามาโกง
ถ้าเอาไม่อยู่ โกงกันกระฉ่อน จนสังคมรับไม่ได้
รัฐบาลสะเทือนแน่.
...
“ทีมการเมือง”